Miranda-Moon

จากผลการศึกษาใหม่ นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานบ่งชี้ว่า ดวงจันทร์มิแรนดา (Miranda) ซึ่งเป็นดาวบริวารขนาดเล็กของ ดาวยูเรนัส อาจมีมหาสมุทรซ่อนตัวอยู่ใต้พื้นผิวน้ำแข็ง ซึ่งการค้นพบครั้งนี้อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความเข้าใจเกี่ยวกับการก่อตัวและวิวัฒนาการของดาวเคราะห์ รวมถึงศักยภาพในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตนอกโลก

งานวิจัยนี้ใช้ข้อมูลจากยานวอยเอเจอร์ 2 และแบบจำลองใหม่วิเคราะห์พื้นผิวของมิแรนดา ซึ่งชี้ว่าใต้เปลือกน้ำแข็งของมิแรนดามีมหาสมุทรที่อาจลึกถึง 100 กิโลเมตร

โดยนักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลจากยานวอยเอเจอร์ 2 ซึ่งเคยบินผ่านดาวยูเรนัสในปี ค.ศ. 1986 ประกอบกับการใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ขั้นสูง พบว่า แรงไทดัล (Tidal force) อันเนื่องมาจากปฏิสัมพันธ์ทางแรงโน้มถ่วงระหว่างมิแรนดากับดวงจันทร์ใกล้เคียง อาจสร้างความร้อนภายในมากเพียงพอที่จะรักษาน้ำในสถานะของเหลวไว้ใต้เปลือกน้ำแข็ง

การค้นพบมหาสมุทรใต้ผิวดินบนมิแรนดา ทำให้ดาวบริวารดวงนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “โลกมหาสมุทรน้ำแข็ง” เช่นเดียวกับดวงจันทร์ยูโรปา (Europa) และเอนเซลาดัส (Enceladus) ซึ่งเป็นดาวบริวารที่มีมหาสมุทรใต้เปลือกน้ำแข็งและมีศักยภาพในการเอื้อต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต

แม้ว่าผลการศึกษาจะน่าสนใจมาก แต่ก็จำเป็นต้องมีการสำรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการมีอยู่ของมหาสมุทร ทางนักวิจัยหวังว่าภารกิจในอนาคตที่จะไปสำรวจดาวยูเรนัส จะสามารถกลับไปเยี่ยมชมดวงจันทร์มิแรนดาอีกครั้ง

การศึกษามิแรนดาอาจช่วยเผยข้อมูลว่า สภาพแวดล้อมที่ห่างไกลจากดวงอาทิตย์สามารถรองรับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กได้หรือไม่ การค้นพบมหาสมุทรที่อาจเกิดขึ้นบนมิแรนดารองรับมุมมองที่ว่าดวงจันทร์ในระบบสุริยะชั้นนอกอาจเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต และอาจนำไปสู่การศึกษาอื่นๆ ของดาวยูเรนัส ซึ่งช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจระบบสุริยะมากขึ้น


ข้อมูลอ้างอิง : Daily Galaxy
– Uranus’ Moon Miranda May Host a Hidden Ocean Beneath Its Icy Surface