Warp Drive ฝ่าความเร็วแสง โดยไม่แหกกฎสัมพัทธภาพ!

เทคโนโลยีที่ดูเหมือนจะหลุดออกมาจากหนังไซไฟ นั่นก็คือ “Warp Drive” หรือยานพาหนะที่สามารถเดินทางได้เร็วกว่าแสง

หลายคนอาจจะคิดว่า “เป็นไปไม่ได้” เพราะเราต่างก็รู้ว่าไม่มีอะไรเดินทางได้เร็วกว่าแสง ซึ่งเป็นกฎที่ฝังแน่นอยู่ในทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (Special Relativity) ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

Warp Drive กลายเป็นหัวข้อที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจในปี ค.ศ. 1994 เมื่อนักฟิสิกส์ชาวเม็กซิกันชื่อ มิเกล อัลคูเบียร์ (Miguel Alcubierre) ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง Star Trek และลองคิดว่ามันเป็นไปได้ไหมที่จะสร้าง Warp Drive ซึ่งเขาไม่ได้จะสร้างมันจริง ๆ แต่เขาต้องการจะรู้ว่าภายใต้กฎฟิสิกส์ที่เรามีอยู่อนุญาตให้เราสร้าง Warp Drive ได้หรือไม่

และคำตอบที่ได้ก็ทำให้น่าประหลาดใจ เพราะมันคือ “เป็นไปได้” แม้จะไม่ใช่คำตอบที่เป็นทางการ แต่มันก็เปิดความเป็นไปได้ที่น่าสนใจ

ทำไมถึงเป็นไปได้? นั่นก็เพราะว่าทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป (General Relativity) บอกเราว่า ไม่มีอะไรสามารถเดินทางเร็วกว่าแสงได้ใน “ระดับท้องถิ่น” นั่นหมายความว่า ถ้าคุณอยู่ในยานอวกาศ คุณจะไม่สามารถวัดความเร็วของยานว่าเร็วกว่าแสง และคนที่อยู่ข้าง ๆ คุณก็จะเห็นยานของคุณเคลื่อนที่ด้วยความเร็วไม่เกินแสง

แต่สำหรับวัตถุที่อยู่ไกลออกไป มันสามารถปรากฏให้เราเห็นว่ากำลังเคลื่อนที่เร็วกว่าแสงได้ ปรากฏการณ์นี้อธิบายการขยายตัวของเอกภพ กาแล็กซีที่อยู่ห่างไกลจากเรามากกว่า 13,800 ล้านปีแสง กำลังเคลื่อนที่ห่างออกจากเราเร็วกว่าความเร็วแสง

และ Warp Drive ก็ใช้หลักการเดียวกันนี้ มันไม่ได้ทำให้ยานอวกาศเคลื่อนที่เร็วกว่าแสงในระดับท้องถิ่น แต่เป็นการ “บิด” หรือ “ย่น” ปริภูมิรอบ ๆ ยาน ทำให้ระยะทางระหว่างจุดสองจุดสั้นลง ทำให้ยานสามารถไปถึงจุดหมายได้เร็วกว่าแสง โดยที่ตัวยานเองไม่ได้เคลื่อนที่เร็วกว่าแสงเลย

Warp Drive อาจจะยังเป็นแค่แนวคิดในตอนนี้ แต่ก็เป็นแนวคิดที่อยู่บนพื้นฐานของฟิสิกส์ที่เราเข้าใจ และมันก็เปิดประตูสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการสำรวจอวกาศ


เรียงเรียงข้อมูลจาก: Paul Sutter
– How Warp Drives Don’t Break Relativity