ภาพถ่ายจากดาวเทียมในวันที่ 11 กันยายน 2024 เผยให้เห็นว่า น้ำแข็งในทะเลอาร์กติกกำลังลดลงอย่างน่าเป็นห่วง เส้นสีเหลืองแสดงขอบเขตโดยเฉลี่ยของน้ำแข็งในช่วง 30 ปี ตั้งแต่ปี 1981 ถึง 2010 โดยนักวิจัยจาก NASA และศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติ (NSIDC) ได้ชี้ว่าเป็นสัญญาณเตือนภัยถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น

การละลายของน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกเกิดขึ้นต่อเนื่องมานานหลายทศวรรษ และปีนี้อาจทำลายสถิติเดิม โดยเหลือพื้นที่น้ำแข็งเพียง 1.65 ล้านตารางไมล์ น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาถึง 750,000 ตารางไมล์ หรือเทียบเท่ากับพื้นที่ที่ใหญ่กว่ารัฐอะแลสกา

ปริมาณน้ำทะเลที่กลายเป็นน้ำแข็งในแถบอาร์กติกมีความผันผวนตลอดทั้งปี เนื่องจากน้ำแข็งละลายและก่อตัวขึ้นใหม่ระหว่างฤดูกาล นักวิทยาศาสตร์ได้บันทึกการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เพื่อศึกษาว่าอาร์กติกตอบสนองต่อสภาพความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร ซึ่งในช่วง 46 ปีที่ผ่านมา ดาวเทียมได้สังเกตเห็นแนวโน้มการละลายของน้ำแข็งที่เพิ่มขึ้นในฤดูร้อนอย่างต่อเนื่อง และการก่อตัวของน้ำแข็งน้อยลงในฤดูหนาว

นอกจากนี้ น้ำแข็งที่เหลืออยู่ยังมีอายุน้อยและบางลง ทำให้เสี่ยงต่อการละลายในช่วงฤดูร้อนมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า หากยังไม่มีการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง น้ำแข็งขั้วโลกอาจหายไปในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสภาพอากาศทั่วโลก

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์วัดขอบเขตของน้ำแข็งทะเลโดยใช้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ไมโครเวฟแบบพาสซีฟบนดาวเทียมในโครงการดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาป้องกัน พร้อมข้อมูลในอดีตเพิ่มเติมจากดาวเทียม Nimbus-7 ซึ่งดำเนินการร่วมกันโดย NASA และ National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA)


เครดิตภาพและข้อมูลอ้างอิง : NASA’s Scientific Visualization Studio/Trent L. Schindler
– Arctic Sea Ice Near Historic Low; Antarctic Ice Continues Decline