หลายคนคงเคยได้ยิน หรืออาจจะเคยมีโอกาสได้เห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เรียกว่า “แสงขั้วโลก” (Aurora Polaris) แสงขั้วโลกได้รับการขนานนามว่าเป็น “การเต้นรำของแสงสี” (The Bright of Dancing Lights) หรือ “การเริงระบำของจิตวิญญาณ” (Dance of The Spirits) มีรากศัพท์ภาษาอังกฤษมาจากคำว่า “Aurora” ซึ่งตั้งชื่อตามเทพีแห่งรุ่งอรุณของชาวโรมัน (Roman Goddess of Dawn)

แสงขั้วโลกสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในแถบขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ โดยสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนในคืนที่มืดสนิท แสงขั้วโลกที่เกิดขึ้นในแถบขั้วโลกเหนือ เรียกว่า “แสงเหนือ” (Northern Light หรือ Aurora Borealis) ส่วนแสงขั้วโลกที่เกิดขึ้นในแถบขั้วโลกใต้ เรียกว่า “แสงใต้” (Southern Light หรือ Aurora Australis) มีงานวิจัยระบุว่า แสงเหนือและแสงใต้มักเกิดขึ้นพร้อมกัน มีรูปร่างและสีสันที่คล้ายคลึงกันราวกับเป็นภาพสะท้อนในกระจก

ชาวยุโรปเหนือในยุคโบราณ (ผู้คนในแถบประเทศนอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์) มีความเชื่อว่าแสงขั้วโลกเกิดจากแสงสะท้อนของชุดเกราะนักรบโบราณที่ส่องประกายบนท้องฟ้า ในขณะที่ชาวโรมันสมัยก่อนเชื่อว่า แสงขั้วโลกเกิดจากการปรากฏตัวของเทพีแห่งรุ่งอรุณ ผู้ซึ่งโบยบินผ่านท้องฟ้ายามเช้าเพื่อส่งสัญญาณว่าดวงอาทิตย์กำลังจะขึ้น สำหรับชาวอะบอริจิน พวกเขาเชื่อว่าแสงขั้วโลกเป็นสัญลักษณ์ของไฟ ไม่ว่าจะเป็นไฟจากคบเพลิงหรือกองไฟ หากจะเปรียบเทียบ ตำนานเหล่านี้ก็คงไม่ต่างจากความเชื่อเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติในบ้านเรา เช่น ฟ้าผ่าเกิดจากยักษ์รามสูรขว้างขวานใส่ลูกแก้วของนางมณีเมขลา หรือจันทรุปราคาเกิดจากพระราหูอมดวงจันทร์

แต่ในความเป็นจริง แสงขั้วโลกเกิดจากอนุภาคพลังงานสูงที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากดวงอาทิตย์ขณะหมุนรอบตัวเอง อนุภาคเหล่านี้เดินทางมากับลมสุริยะ มุ่งหน้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก และเมื่ออนุภาคเหล่านี้เคลื่อนที่ผ่านชั้นบรรยากาศโลกที่ระดับความสูง 80-640 กิโลเมตรจากพื้นดิน มันจะชนกับโมเลกุลของก๊าซในชั้นบรรยากาศ เกิดการปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแสงสีที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้

แสงขั้วโลกมีสีสันและรูปร่างที่หลากหลาย โดยรูปร่างของแสงนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของสนามแม่เหล็กบนผิวโลก รูปร่างที่พบเห็นบ่อย ได้แก่ แสงเรืองรองกระจายทั่วท้องฟ้า ลำแสงชัดเจน หรือละอองแสงคล้ายม่านหมอก สีของแสงขั้วโลกนั้นขึ้นอยู่กับความสูงที่อนุภาคจากดวงอาทิตย์ชนกับโมเลกุลของก๊าซในชั้นบรรยากาศ รวมถึงชนิดของก๊าซด้วย ซึ่งหลักๆ ได้แก่ ออกซิเจน และไนโตรเจน สีของแสงขั้วโลกที่ปรากฏบ่อยที่สุดคือ สีเขียวและสีชมพู รองลงมาคือสีแดง สีเหลือง และสีม่วงตามลำดับ

ไม่ว่าจะเป็นแสงเหนือหรือแสงใต้ ปรากฏการณ์แสงขั้วโลกก็ยังคงเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้นมา และยังคงสร้างความประทับใจให้กับผู้พบเห็นได้เสมอ