ดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะของเรา มีมวลมากกว่าดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ รวมกัน หลายคนอาจคิดว่าด้วยขนาดที่ใหญ่โตมโหฬารเช่นนี้ ดาวพฤหัสบดีน่าจะสามารถเป็นดาวฤกษ์ได้ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย!

แม้ดาวพฤหัสบดีจะมีขนาดใหญ่และประกอบด้วยก๊าซเป็นส่วนมากเหมือนดาวฤกษ์ แต่การจะเป็นดาวฤกษ์ได้นั้น ต้องมีมากกว่าแค่ขนาด ซึ่งหัวใจสำคัญของการเป็นดาวฤกษ์คือ “การหลอมนิวเคลียร์” กระบวนการที่อะตอมชนกันและปลดปล่อยพลังงานมหาศาลออกมา ทำให้ดาวฤกษ์ส่องแสงและแผ่ความร้อนได้

แต่การจะเริ่มต้นกระบวนการหลอมนิวเคลียร์ได้นั้น ต้องอาศัยแรงดันและอุณหภูมิที่สูงมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับมวลสารภายใน แม้ดาวพฤหัสบดีจะมีมวลมาก แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะบีบอัดแกนกลางให้เกิดความร้อนที่เพียงพอต่อการจุดชนวนการหลอมนิวเคลียร์ แกนกลางของดาวพฤหัสบดีมีอุณหภูมิประมาณ 15,000 องศาเซลเซียส ซึ่งฟังดูร้อนมาก แต่เทียบไม่ได้กับแกนกลางของดวงอาทิตย์ที่มีอุณหภูมิสูงถึง 15 ล้านองศาเซลเซียส!

นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า หากดาวพฤหัสบดีต้องการเป็นดาวฤกษ์จริงๆ ที่สามารถหลอมไฮโดรเจนแบบปกติได้ มันต้องมีมวลมากกว่าปัจจุบันถึง 83-85 เท่า

แล้วดาวพฤหัสบดีจะหามวลสารเพิ่มได้จากไหน? การกลืนกินดาวเคราะห์หรือดาวเคราะห์น้อยดวงอื่นๆ เป็นไปไม่ได้ เพราะจะทำให้ระบบสุริยะปั่นป่วน แม้ว่าจะทำได้จริง ก็ต้องใช้เวลานานมาก กว่าที่ดาวพฤหัสบดีจะใหญ่พอ ดวงอาทิตย์อาจจะดับสูญไปแล้วก็ได้

ด้วยเหตุนี้ ดาวพฤหัสบดีจึงต้องจำใจเป็นดาวเคราะห์ต่อไป แถมยังเป็นดาวเคราะห์ที่ไม่ค่อยน่าพิศมัยเท่าไหร่นัก เพราะไม่มีพื้นผิวที่แข็ง ไม่มีสิ่งมีชีวิต และเต็มไปด้วยพายุที่รุนแรง แต่ดาวพฤหัสบดีก็มีดวงจันทร์บริวารมากมาย ซึ่งบางดวงก็น่าสนใจยิ่งกว่าดาวพฤหัสบดีเสียอีก


ข้อมูลอ้างอิง

  •  NASA Science
    Jupiter: Facts
  • Astronomy.com
    Why is Jupiter not a star or a brown dwarf?
  • BBC Science Focus
    Could Jupiter become a star?