เนบิวลาดาวเคราะห์โคฮูเทค 4-55 (Kohoutek 4-55) ปัจฉิมบทอันงดงามของดาวฤกษ์

ภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจที่เราเห็นอยู่นี้ไม่ใช่ภาพวาดหรือภาพเหนือจริง แต่เป็นภาพถ่ายของกลุ่มเมฆก๊าซและอะตอมที่แตกตัวเป็นไอออน (Ionized Atoms and Molecules) ซึ่งถูกพ่นออกมาจากดาวฤกษ์ที่กำลังจะดับสูญ เนบิวลาดาวเคราะห์โคฮูเทค 4-55 ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวหงส์ (Cygnus) ห่างจากโลกของเราไปประมาณ 4,600 ปีแสง และเป็นส่วนหนึ่งของกาแล็กซีทางช้างเผือก

เนบิวลาดาวเคราะห์ (Planetary Nebula) เป็นเหมือนการแสดงครั้งสุดท้ายอันงดงามในช่วงชีวิตของดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ เมื่อดาวฤกษ์แดงยักษ์ (Red Giant Star) ใช้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์จนหมดสิ้น และปลดปล่อยชั้นก๊าซสุดท้ายออกมา แกนกลางที่เหลืออยู่จะหดตัวลงอีกครั้ง ทำให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน (Nuclear Fusion) เป็นครั้งสุดท้าย แกนกลางที่ร้อนจัดจะแผ่รังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet Light) ที่มีพลังงานสูงออกมา กระตุ้นให้กลุ่มเมฆก๊าซที่ถูกพ่นออกมานั้นเรืองแสง โมเลกุลของก๊าซจะแตกตัวเป็นไอออนและเปล่งแสงสีต่างๆ ออกมา ในภาพนี้ สีแดงและส้มแสดงถึงโมเลกุลของไนโตรเจน (Nitrogen), สีเขียวคือไฮโดรเจน (Hydrogen) และสีน้ำเงินคือออกซิเจน (Oxygen)

โคฮูเทค 4-55 มีรูปร่างที่ซับซ้อนและไม่เหมือนใคร โดยมีวงแหวนสว่างด้านในล้อมรอบด้วยชั้นก๊าซที่จางกว่า และทั้งหมดถูกห่อหุ้มด้วยวงแหวนขนาดใหญ่ของไนโตรเจนที่แตกตัวเป็นไอออน ปรากฏการณ์อันน่าตื่นตาตื่นใจนี้เป็นช่วงเวลาที่แสนสั้น การรวมตัวของนิวเคลียสในแกนกลางจะสิ้นสุดลงในเวลาเพียงไม่กี่หมื่นปี ทิ้งไว้เพียงดาวแคระขาว (White Dwarf) ที่จะไม่สามารถส่องสว่างกลุ่มเมฆที่อยู่รอบข้างได้อีกต่อไป


เครดิตภาพ: ESA/Hubble & NASA, K. Noll

More From Author

โฮเซ โมเรโน เฮอร์นานเดซ จากเด็กเก็บองุ่นสู่นักบินอวกาศผู้สร้างแรงบันดาลใจ