layer-of-atmosphere2

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมเราถึงหายใจอยู่ได้? ทำไมท้องฟ้าถึงเป็นสีฟ้า? หรือทำไมฝนถึงตก? ทั้งหมดนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับ ชั้นบรรยากาศ (Layers of atmosphere) ที่ห่อหุ้มโลกของเราอยู่นั่นเอง!

ชั้นบรรยากาศเปรียบเสมือนเกราะป้องกันโลกจากอันตรายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรังสีจากดวงอาทิตย์ อุกกาบาต หรือวัตถุต่างๆ ในอวกาศ แถมยังช่วยควบคุมอุณหภูมิของโลกให้เหมาะสมต่อสิ่งมีชีวิตอีกด้วย แต่รู้ไหมว่า ชั้นบรรยากาศไม่ได้มีแค่ชั้นเดียว มันถูกแบ่งออกเป็นหลายชั้น ซึ่งในแต่ละชั้นก็มีลักษณะและหน้าที่แตกต่างกันไป เรามาดูกันว่ามีชั้นอะไรบ้าง

1️. โทรโพสเฟียร์ (Troposphere)
ความสูง: 0 – 12 กิโลเมตร จากผิวโลก

ชั้นนี้ใกล้ตัวเรามากที่สุด เพราะเป็นชั้นที่มนุษย์เราอาศัยอยู่ มีลักษณะเด่นคือ อุณหภูมิจะลดลงตามความสูง ยิ่งสูงยิ่งหนาว โดยเฉลี่ยแล้ว ทุกๆ 1 กิโลเมตรที่สูงขึ้น อุณหภูมิจะลดลง 6.5 องศาเซลเซียส ส่วนประกอบหลักๆ ก็คือ ไอน้ำ เมฆ หมอก และพายุ ดังนั้น ปรากฏการณ์ทางสภาพอากาศต่างๆ เช่น ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ล้วนเกิดขึ้นในชั้นนี้ทั้งนั้น นอกจากนี้โทรโพสเฟียร์ยังเป็นชั้นที่มีความหนาแน่นของอากาศมากที่สุด คิดเป็นประมาณ 75% ของมวลอากาศทั้งหมด

2️. สตราโทสเฟียร์ (Stratosphere)
ความสูง: 12 – 50 กิโลเมตรจากผิวโลก

ถัดขึ้นมาอีกหน่อย เราจะพบกับชั้นสตราโทสเฟียร์ ซึ่งมี “โอโซน” เป็นองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งโอโซนทำหน้าที่กรองรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ ป้องกันไม่ให้ผิวหนังของเราไหม้เกรียม และยังช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนังอีกด้วย อุณหภูมิในชั้นนี้จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามระดับความสูง เพราะโอโซนดูดกลืนรังสีไว้ ที่สำคัญ ชั้นนี้ยังเหมาะกับการบินของเครื่องบิน เพราะอากาศค่อนข้างนิ่ง ไม่มีพายุรบกวน และมีความหนาแน่นน้อยกว่าโทรโพสเฟียร์ ทำให้เครื่องบินบินได้อย่างราบรื่น

3️. เมโซสเฟียร์ (Mesosphere)
ความสูง: 50 – 80 กิโลเมตรจากผิวโลก

ในชั้นนี้อุณหภูมิจะลดลงตามความสูงอีกครั้ง และเป็นชั้นที่หนาวที่สุดในบรรยากาศ โดยอุณหภูมิอาจลดลงต่ำสุดถึง -90 องศาเซลเซียส มีอากาศเบาบางมาก แต่กลับมีประโยชน์อย่างมหาศาล เพราะช่วยเผาไหม้อุกกาบาตที่ตกลงมาจากอวกาศ ทำให้เราเห็นเป็นดาวตกสวยงาม แทนที่จะกลายเป็นอันตรายต่อโลก นอกจากนี้ ในชั้นนี้ยังมี “เมฆเรืองแสงกลางคืน” (Noctilucent clouds) ซึ่งเป็นเมฆที่เกิดจากผลึกน้ำแข็ง และสามารถมองเห็นได้ในช่วงพลบค่ำ

4️. เทอร์โมสเฟียร์ (Thermosphere)
ความสูง: 80 – 700 กิโลเมตรจากผิวโลก

ในชั้นนี้อุณหภูมิจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์โดยตรง แม้ว่าอากาศจะเบาบางมาก แต่ก็มีความสำคัญ เพราะเป็นชั้นที่เกิดปรากฏการณ์แสงเหนือแสงใต้ ที่สวยงามตระการตา นอกจากนี้ สถานีอวกาศนานาชาติ และดาวเทียมต่างๆ ก็โคจรอยู่ในชั้นนี้เช่นกัน

5️. เอกโซสเฟียร์ (Exosphere)
ความสูง: 700 – 10,000 กิโลเมตรจากผิวโลก

ชั้นนี้อยู่ไกลจากพื้นโลกมากที่สุด เป็นชั้นนอกสุดของบรรยากาศ มีอากาศเบาบางมากๆ จนเกือบจะเป็นสุญญากาศ อนุภาคต่างๆ ในชั้นนี้ เช่น ไฮโดรเจนและฮีเลียม สามารถหลุดออกไปสู่อวกาศได้ เอกโซสเฟียร์เป็นชั้นบรรยากาศที่มีความหนาแน่นน้อยที่สุด และเป็นชั้นที่ค่อยๆ ผสมผสานเข้ากับอวกาศ

โลกของเรามีสิ่งมหัศจรรย์ซ่อนอยู่มากมาย รอให้เราออกไปค้นหา อย่าลืมกดติดตามติดตามเรื่องราวสนุกๆ ทางดาราศาสตร์และอวกาศได้ทางเพจมนุษย์อวกาศ


แหล่งข้อมูลอ้างอิง
นิตยสารสาระวิทย์ โดย สวทช.
มาทำความรู้จักกับบรรยากาศของโลกกันเถอะ