8395345_1726572120003_a

น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวง อว. กับองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration: CNSA) เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ MATCH (Moon Aiming Thai-Chinese Hodoscope) ที่จะร่วมติดตั้งไปกับยานสำรวจอวกาศฉางเอ๋อ 7 สำหรับสำรวจสภาพอวกาศโดยรอบของดวงจันทร์ ภายใต้โครงการสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ (International Lunar Research Station: ILRS) ตามที่กระทรวง อว. โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) และมหาวิทยาลัยมหิดลนำเสนอ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวต่อว่า อุปกรณ์ MATCH มีแผนจะนำส่งขึ้นสู่วงโคจรของดวงจันทร์ในปี 2569 และจะลงจอด ณ บริเวณแอ่งขั้วใต้เอตเคน (South Pole-Aitken) ของดวงจันทร์ เพื่อตรวจวัดรังสีคอสมิกจากกาแล็กซีและอิเล็กตรอนจากดาวพฤหัสบดี รวมถึงศึกษาเชิงกลไกของอนุภาคพลังงานสูงระหว่างโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ นับเป็นครั้งแรกที่อุปกรณ์สำรวจอวกาศของไทยจะถูกนำไปใช้งานในภารกิจการสำรวจอวกาศห้วงลึก (Deep Space Exploration) และมีผลลัพธ์ทางวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติในภารกิจการสำรวจอวกาศในอนาคต ถือเป็นก้าวแรกของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรวิจัยของไทย ทั้งจาก สดร. และมหาวิทยาลัยมหิดล ในโครงการความร่วมมือด้านอวกาศในระดับโลก ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของกระทรวง อว. ในการพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ของประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศ

สำหรับอุปกรณ์ MATCH ดำเนินการโดย สดร. และมหาวิทยาลัยมหิดล มีเป้าหมายเพื่อตรวจวัดอนุภาคมีประจุพลังงานสูง ศึกษาปริมาณของรังสีคอสมิกในอวกาศ ทั้งด้านที่มาจากพื้นผิวของดวงจันทร์และด้านที่หันออกจากพื้นผิวของดวงจันทร์ ปัจจุบันอุปกรณ์ MATCH อยู่ในขั้นตอนการบูรณาการ ประกอบ และทดสอบความเข้ากันได้ทางไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงระบบโครงสร้างเชิงกลในระดับต้นแบบวิศวกรรม (Engineering model) ที่ขึ้นรูปด้วยวัสดุพิเศษแมกนีเซียมอัลลอย (MB-15) ภายในห้องปฏิบัติการขึ้นรูปชิ้นงานเชิงกลขั้นสูงของ สดร.

แมกนีเซียมอัลลอยเป็นวัสดุวิศวกรรมด้านอวกาศที่มีน้ำหนักเบากว่าอลูมิเนียมถึง 40% กระบวนการขึ้นรูปชิ้นงานมีขั้นตอนที่ละเอียดอ่อน ต้องใช้ความระมัดระวัง แม้สะเก็ดเพียงเล็กน้อยก็อาจลุกติดไฟได้ ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานรัฐใดในประเทศไทยเคยขึ้นรูปด้วยวัสดุชนิดนี้มาก่อน และท้ายที่สุดชิ้นส่วนเหล่านี้จะถูกนำไปประกอบเป็นอุปกรณ์วิจัยวิทยาศาสตร์ฝีมือคนไทยที่จะส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์กับโครงการฉางเอ๋อ 7 ในปี 2569

การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจดวงจันทร์ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอวกาศ ที่จะได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เทคโนโลยีอวกาศระหว่างไทยกับนานาชาติ เป็นความท้าทายทางวิศวกรรมอันนำมาซึ่งโอกาสการพัฒนากำลังคนที่มีทักษะและสมรรถนะสูงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยกระดับขีดความสามารถของวิศวกรไทยในฐานะผู้ออกแบบ ผลิต ค้นคว้า และวิจัยหนึ่งในอุปกรณ์ที่จะไปสำรวจดวงจันทร์ ข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่ได้จากโครงการนี้จะเป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์ขั้นแนวหน้า ซึ่งยังไม่เคยศึกษาและค้นพบมาก่อน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นโจทย์ท้าทายและเป็นบททดสอบสำคัญที่จะประกาศให้โลกทราบถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจอวกาศ

ข้อมูลอ้างอิง: การกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม