นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบปรากฏการณ์แสงออโรรา (Aurora) ที่น่าตื่นตาตื่นใจบนดาวเนปจูน (Neptune) ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างไกลจากดวงอาทิตย์มากที่สุด โดยภาพถ่ายชุดแรกนี้ได้มาจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) ร่วมกับข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ขององค์การนาซา (NASA) และองค์การอวกาศยุโรป (ESA)
ปรากฏการณ์ออโรราเกิดขึ้นเมื่ออนุภาคพลังงานสูง ซึ่งส่วนใหญ่มักมาจากดวงอาทิตย์ ถูกดักจับโดยสนามแม่เหล็กของดาวเคราะห์ และพุ่งชนชั้นบรรยากาศด้านบน พลังงานที่ปล่อยออกมาจากการชนเหล่านี้ทำให้เกิดแสงเรืองรองที่เป็นเอกลักษณ์
การตรวจจับแสงออโรราบนดาวเนปจูนโดยกล้องเจมส์ เวบบ์ ถือเป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์สามารถจับภาพหลักฐานโดยตรงของปรากฏการณ์นี้บนดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างไกลจากดวงอาทิตย์มากที่สุด นอกจากแสงเรืองรองที่มองเห็นได้ในภาพแล้ว สเปกตรัมจากเจมส์ เวบบ์ ยังพบเส้นการปล่อยแสงที่โดดเด่นอย่างยิ่ง ซึ่งบ่งชี้ถึงการมีอยู่ของไอออนไตรไฮโดรเจน (H3+) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในแสงออโรรา
แสงออโรราของดาวเนปจูนไม่ได้เกิดขึ้นที่ขั้วเหนือและขั้วใต้ของดาวเคราะห์เหมือนกับที่เราเห็นแสงออโรราบนดาวเคราะห์อย่างโลกและดาวพฤหัสบดี เนื่องจากลักษณะที่แปลกประหลาดของสนามแม่เหล็กของดาวเนปจูน ซึ่งเอียงทำมุม 47 องศาจากแกนการหมุนของดาวเคราะห์
การศึกษาดาวเนปจูนของกล้องเจมส์ เวบบ์ ยังเผยให้เห็นว่าชั้นบรรยากาศด้านบนของดาวเคราะห์เย็นลงหลายร้อยองศา ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้แสงออโรราของดาวเนปจูนไม่ถูกตรวจพบมาเป็นเวลานาน
เครดิตภาพและข้อมูล: NASA, ESA, CSA, STScI
– Neptune Auroras (Hubble and Webb Image)