บ่อยครั้งที่เราพบเห็นหรือได้ยินรายงานข่าวว่า “เกิดแผ่นดินไหวขนาดเท่านั้นเท่านี้ริกเตอร์” หรือ “…เท่านั้นเท่านี้แมกนิจูด” ซึ่งที่จริงแล้วทั้งคำว่า “ริกเตอร์” และ “แมกนิจูด” นั้นไม่ใช่หน่วยวัดขนาดหรือระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหว แล้วมันคืออะไรกันแน่?
มาตราริกเตอร์คืออะไร?
มาตราริกเตอร์ (Richter magnitude scale หรือ local magnitude scale ชื่อย่อ ML) เป็นชื่อของมาตราวัดขนาดแผ่นดินไหว ที่ ชาลส์ ฟรานซิส ริกเตอร์ (Charles Francis Richter) จาก California Institute of Technology สหรัฐอเมริกา พัฒนาขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1935 โดยใช้ข้อมูลความสูงของคลื่นแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า seismograph มาคำนวณขนาดของแผ่นดินไหว ณ ตำแหน่งที่เกิด ซึ่งแบ่งขนาดแผ่นดินไหวเป็น 0-9
แม้ว่าประเทศไทยจะใช้มาตราริกเตอร์เป็นหลัก แต่มาตราริกเตอร์ก็มีข้อจำกัด คือไม่สามารถวัดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เกิน 7 ได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีการพัฒนามาตราวัดขนาดแผ่นดินไหวอื่น ๆ ขึ้นมาอีก เช่น มาตราโมเมนต์ (Mw), มาตราคลื่นตัวกลาง (mb), มาตราคลื่นผิว (MS) โดยมาตราที่นิยมใช้กันในปัจจุบันคือมาตราโมเมนต์ ซึ่งสามารถวัดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้อย่างแม่นยำ
ดังนั้น การรายงานข่าวเกี่ยวกับแผ่นดินไหวจึงควรระบุมาตราที่ใช้ในการวัดด้วย ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาร์ ควรระบุว่า “เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ตามมาตราโมเมนต์” หรือหากไม่ทราบมาตราที่แน่นอน ควรระบุเพียง “เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.2”
ความแตกต่างระหว่างขนาดและความรุนแรง
คำว่า “แมกนิจูด” (magnitude) แปลว่า ขนาด (ของแผ่นดินไหว) ไม่ใช่หน่วยวัด ในข่าวต่างประเทศจะใช้คำว่า “7.8 magnitude earthquake/quake” ซึ่งเมื่อแปลเป็นภาษาไทยคือ “แผ่นดินไหวขนาด 7.8” โดยไม่จำเป็นต้องเติมคำว่า “แมกนิจูด” ต่อท้าย
เมื่อพูดถึงขนาดของแผ่นดินไหวแล้ว ผู้คนมักสับสนกับอีกคำหนึ่งคือ ความรุนแรงของแผ่นดินไหว (intensity) ซึ่งกำหนดระดับความรุนแรงโดยใช้ความรู้สึกของการสั่นสะเทือนและระดับความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยมาตราวัดความรุนแรงของแผ่นดินไหวก็มีหลายมาตราเช่นกัน แต่มาตราที่นิยมใช้กันในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย คือมาตราเมอร์คัลลิ (Mercalli scale) ซึ่งแบ่งความรุนแรงเป็น 12 ระดับ เขียนเป็นตัวเลขโรมัน จากน้อยไปมาก จากระดับ I (ประชาชนไม่รู้สึก ตรวจวัดได้ด้วยเครื่องมือ) ไปถึงระดับ XII (อาคารเสียหายเกือบทั้งหมด) การเขียนรายงานควรระบุมาตราไว้ด้านหลังตัวเลข เช่นเดียวกับขนาด เช่น “แผ่นดินไหวครั้งนี้มีความรุนแรงระดับ X ตามมาตราเมอร์คัลลิ”
ข้อมูลอ้างอิง:
– กรมอุตุนิยมวิทยา
– Paipibat