LRRR

ย้อนกลับไปในยุคโครงการอะพอลโล (Apollo) ช่วงเวลาแห่งการแข่งขันด้านอวกาศ มนุษย์ได้ก้าวเดินบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก ทิ้งรอยเท้าและบันทึกประวัติศาสตร์ไว้ แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากรอยเท้าแล้ว นักบินอวกาศยังทิ้ง “กระจก” ไว้บนนั้นด้วย!

กระจกที่ว่านี้ไม่ใช่กระจกธรรมดา แต่เป็นอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเรียกว่า “Lunar Laser Ranging Retroreflector” หรือย่อๆ ว่า LRRR มีหน้าที่สะท้อนแสงเลเซอร์จากโลก เพื่อใช้วัดระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์อย่างแม่นยำ

การนำ LRRR ไปวางบนดวงจันทร์ ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของโครงการ Apollo โดยนักบินอวกาศจาก Apollo 11, 14 และ 15 ได้นำ LRRR ไปติดตั้งไว้บนพื้นผิวดวงจันทร์

Apollo 11 (ค.ศ. 1969)
นีล อาร์มสตรอง และ บัซ อัลดริน นำ LRRR ขนาดเท่าฝ่ามือไปวางไว้
Apollo 14 (ค.ศ. 1971)
อลัน เชพเพิร์ด และ เอ็ดการ์ มิทเชลล์ นำ LRRR ขนาดเท่าฝ่ามือไปวางไว้เช่นกัน
Apollo 15 (ค.ศ. 1971)
เดวิด สก็อตต์ และ เจมส์ เออร์วิน นำ LRRR ขนาดใหญ่ขึ้น เท่ากระเป๋าเอกสารไปวางไว้

LRRR ประกอบด้วย “corner cube prism” จำนวนมาก เรียงตัวกันเป็นแผง ซึ่ง corner cube prism หรือ ปริซึมมุมลูกบาศก์ เป็นอุปกรณ์ทรงสามเหลี่ยมที่ทำจากวัสดุโปร่งใส เช่น แก้ว มีคุณสมบัติพิเศษคือ สามารถสะท้อนแสงกลับไปยังทิศทางเดิมกับที่แสงส่องเข้ามา ไม่ว่าแสงจะตกกระทบในมุมไหนก็ตาม

เมื่อนักวิทยาศาสตร์บนโลกยิงเลเซอร์ไปยัง LRRR แสงเลเซอร์จะสะท้อนกลับมายังโลก นักวิทยาศาสตร์ก็จะจับเวลาที่แสงเดินทางไป-กลับ ซึ่งแสงเดินทางด้วยความเร็วคงที่ ก็เลยคำนวณระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ได้อย่างแม่นยำ โดยมีความคลาดเคลื่อนแค่ไม่กี่มิลลิเมตรเท่านั้น!

ข้อมูลที่ได้จาก LRRR ไม่เพียงช่วยให้เรารู้ระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์อย่างแม่นยำ แต่ยังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาสิ่งต่างๆ ได้อีกมากมาย เช่น

– วงโคจร ความเร็ว การหมุนรอบตัวเองของดวงจันทร์
– โครงสร้างภายในของดวงจันทร์ แก่น เนื้อดาว เปลือก
– ผลการทดลองช่วยยืนยันความถูกต้องของทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์
– ช่วยในการศึกษาการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกดวงจันทร์

แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 50 ปี แต่ LRRR ก็ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง ส่งข้อมูลล้ำค่ากลับมายังโลก เป็นเครื่องมือสำคัญในการศึกษา ทำความเข้าใจ และไขปริศนาต่างๆ เกี่ยวกับดวงจันทร์และจักรวาล นับเป็นมรดกอันล้ำค่าที่โครงการ Apollo ทิ้งไว้ให้กับมวลมนุษยชาติ


ข้อมูลอ้างอิง : Laser Ranging Retroreflector – Wikipedia