2 ธันวาคม 2024
นาซาคอนเฟิร์มว่า ยานวอยเอเจอร์ 1 (Voyager 1) สามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติแล้ว หลังจากขาดการติดต่อกับนาซาไปเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
โดยก่อนหน้านี้ ยานวอยเอเจอร์ 1 ได้ปิดระบบส่งสัญญาณวิทยุหลัก หรือที่รู้จักกันในชื่อ X-band ไปโดยไม่ทราบสาเหตุ X-band เป็นระบบสื่อสารความถี่สูงที่ใช้ในการรับส่งข้อมูลกับยานอวกาศในห้วงอวกาศลึก และหันไปใช้ระบบ S-band ซึ่งเป็นระบบสื่อสารที่มีความถี่ต่ำกว่าและใช้พลังงานน้อยกว่าแทน
ปัจจุบัน ยานวอยเอเจอร์ 1 อยู่ห่างจากโลกประมาณ 24,800 ล้านกิโลเมตร และไม่ได้ใช้ระบบ S-band มากว่า 40 ปีแล้ว การสลับไปใช้ระบบ S-band ทำให้ทีมงานไม่สามารถดาวน์โหลดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และสถานะของยานได้
ต้นเดือนนี้ ทีมงานสามารถเปิดใช้งานระบบ X-band ได้อีกครั้ง และเริ่มรับข้อมูลจากเครื่องมือวิทยาศาสตร์ทั้ง 4 ชิ้นที่ยังทำงานอยู่บนยานวอยเอเจอร์ 1
ขณะนี้วิศวกรกำลังดำเนินการขั้นสุดท้ายเพื่อให้ยานวอยเอเจอร์ 1 กลับสู่สถานะก่อนเกิดปัญหา โดยหนึ่งในนั้นคือการรีเซ็ตระบบที่ประสานงานคอมพิวเตอร์ทั้งสามตัวบนยาน
สาเหตุที่ระบบ S-band ถูกเปิดใช้งาน เกิดจากระบบป้องกันความผิดพลาดของยาน เมื่อวิศวกรสั่งเปิดใช้งานฮีตเตอร์บนยานวอยเอเจอร์ 1 ระบบป้องกันความผิดพลาดประเมินว่ายานมีพลังงานไม่เพียงพอ จึงปิดระบบที่ไม่จำเป็นต่อการบินโดยอัตโนมัติ เพื่อรักษาพลังงานให้กับระบบสำคัญ
ในกระบวนการนี้ ระบบที่ไม่จำเป็นทั้งหมดถูกปิด ยกเว้นเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้ X-band ถูกปิด และ S-band ซึ่งใช้พลังงานน้อยกว่าถูกเปิดใช้งาน
ทั้งนี้ ยานวอยเอเจอร์ 1 ไม่ได้ใช้ S-band ในการสื่อสารกับโลกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981
ยานวอยเอเจอร์ 1 เริ่มต้นการเดินทางในปี ค.ศ. 1977 พร้อมกับยานวอยเอเจอร์ 2 เพื่อสำรวจดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ในระบบสุริยะ
หลังจากส่งภาพอันน่าทึ่งของจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดีและวงแหวนดาวเสาร์กลับมายังโลก ยานวอยเอเจอร์ 2 ได้เดินทางต่อไปยังดาวยูเรนัสและดาวเนปจูน ขณะที่ยานวอยเอเจอร์ 1 ใช้แรงโน้มถ่วงของดาวเสาร์เหวี่ยงตัวเองไปยังดาวพลูโต
ยานวอยเอเจอร์แต่ละลำมีเครื่องมือวิทยาศาสตร์ 10 ชิ้น ปัจจุบัน นาซาระบุว่ามี 4 ชิ้นที่ยังคงใช้งานอยู่ เพื่อศึกษาอนุภาค พลาสมา และสนามแม่เหล็กในอวกาศระหว่างดวงดาว
ข้อมูลอ้างอิง : NASA