โดย ดร.วทัญญู สุขเสงี่ยม
12 กันยายน 2564
การแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีอวกาศนั้นมีมานาน เริ่มตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่การแข่งขันจำกัดอยู่ในการดูแลของภาครัฐบาลของประเทศมหาอำนาจ เพื่อแสดงถึงความมั่นคงของชาติและวิทยาศาสตร์ของประเทศนั้นๆ แต่ในระยะหลังเทคโนโลยีอวกาศได้แพร่กระจายตัวไปสู่ภาคเอกชน โดยการเปลี่ยนแปลงนี้ เรียกว่า New Space Economy หรือ เศรษฐกิจอวกาศใหม่ ซึ่งการเปิดเผยของบริษัท Morgan Stanley เศรษฐกิจอวกาศใหม่จะมีมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ. 2040 [1]
โดยในที่นี้หากพิจารณาความหมายทีละคำ จะสามารถอธิบายได้ดังนี้ คำว่า New หมายถึง ใหม่ Space คือ อวกาศ หมายถึง ระยะความสูงหรือระดับน้ำทะเล 100 กิโลเมตรขึ้นไป และคำสุดท้าย Economy คือ เศรษฐกิจ หมายถึง กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การจัดจำหน่ายและการค้าแลกเปลี่ยน ตลอดจนการบริโภคสินค้าและบริการผ่านบุคคล ธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ โดยเศรษฐกิจอวกาศใหม่นั้นจะแตกต่างจากเศรษฐกิจอวกาศเก่า ตรงที่ในเศรษฐกิจอวกาศใหม่ เอกชนจะเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศ ต่างจากเศรษฐกิจอวกาศเก่าที่รัฐบาลหรือองค์กรของรัฐบาลและกองทัพเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นได้จากการที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา (National Aeronautics and Space Administration — NASA) ได้ทยอยให้เอกชนเข้าร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอวกาศ โดยภาพที่ชัดเจนที่สุด คือ การที่นาซาใช้บริการการขนส่งอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station — ISS) ผ่านบริษัท SpaceX ซึ่งในสถานีอวกาศนานาชาติเองก็จะถูกเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมงานมากขึ้น ผ่านธุรกิจการขนส่ง และการศึกษาวิจัยด้านอวกาศ [2] ในส่วนของอุตสาหกรรมดาวเทียมเราจะพบได้ว่าเศรษฐกิจอวกาศใหม่ก่อให้เกิดบริษัท Startups ใหม่เป็นจำนวนมาก เช่น Starlink, OneWeb, Satellogic, Planet Labs, Amazon Kuiper เป็นต้น
หัวใจหลักของเศรษฐกิจอวกาศใหม่ จะยังคงเป็นอุตสาหกรรมดาวเทียม ซึ่งอุตสาหกรรมดาวเทียมจะมีขนาดประมาณ 75.62 เปอร์เซ็นต์ของอุตสาหกรรมอวกาศทั้งหมด [3] ถ้าแบ่งอุตสาหกรรมดาวเทียมออกชนิดของเทคโนโลยี จะพบได้ว่าในบรรดาอุตสาหกรรมดาวเทียมทั้งหมด ดาวเทียมอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ (Consumer Broadband Satellites) และอุตสาหกรรมดาวเทียมสำรวจโลก (Earth Observation Satellites) จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดย Morgan Stanley และ Haver Analytics (ผ่าน Statista.com) คาดการณ์ว่าดาวเทียมสื่อสารอินเทอร์เน็ตจะมีมูลค่าสูงถึง 94.85 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 2040 และมีอัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ 15.62 เปอร์เซ็นต์ (Compound Annual Growth Rate: CAGR) ระหว่างปี ค.ศ. 2019–2040 และในส่วนของดาวเทียมสำรวจโลก จะมีมูลค่าสูงถึง 25.27 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ. 2040 และมีอัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ 10.76 เปอร์เซ็นต์ (CAGR) ระหว่างปี ค.ศ. 2019–2040
หากแบ่งดาวเทียมตามวงโคจร เป็น 3 ระดับคือ
1. ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit: LEO) ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 160 ถึง 2,000 กิโลเมตร
2. ดาวเทียมวงโคจรกลาง (Medium Earth Orbit: MEO) ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,000 ถึง 35,786 กิโลเมตร
3. ดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้า (Geostationary Orbit: GEO) ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเกินกว่า 35,786 กิโลเมตร [4]
เศรษฐกิจอวกาศใหม่จะเน้นไปที่การแข่งขันของดาวเทียมประเภทที่ 1 คือ ดาวเทียมวงโคจรต่ำ เหตุผลเพราะวงโคจรต่ำจะสร้างความได้เปรียบในทางแข่งขันทั้งในส่วนของดาวเทียมสื่อสารอินเทอร์เน็ตและส่วนดาวเทียมสำรวจโลก ดาวเทียมสื่อสารอินเทอร์เน็ต โดยปกติจะใช้ดาวเทียมค้างฟ้า แต่เนื่องจากระยะเวลาแฝงที่สูง (High Latency) ทำให้เสียเปรียบการสื่อสารผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำ (ระยะเวลาแฝง หมายถึง ระยะเวลาที่สัญญาณข้อมูลเดินทางระหว่างผู้ส่งและผู้รับ เวลาแฝงยิ่งต่ำยิ่งดีต่อการสื่อสาร เช่น หากเรากำลังคุยโทรศัพท์อินเทอร์เน็ตอยู่ในเครือข่ายที่มีเวลาแฝงสูง เราอาจพูดกับผู้รับผ่านทางโทรศัพท์ แต่ผู้รับจะอาจจะต้องรอสักพักหนึ่งเพื่อให้รอให้เสียงของเราเข้าถึงหูของผู้รับ)
การสื่อสารผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำ ต้องใช้จำนวนดาวเทียมจำนวนมาก เนื่องจากดาวเทียมแต่ละดวงมีความสามารถในการสื่อสารและถ่ายภาพได้ในบริเวณที่แคบกว่าดาวเทียมค้างฟ้า เนื่องด้วยข้อจำกัดทางด้านความสูงของวงโคจร บริษัทต่าง ๆ จึงเน้นสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันโดยการทำให้ดาวเทียมมีราคาถูกและเล็กลงแต่มีจำนวนมาก (mega constellation)
ในปัจจุบันดาวเทียมมีขนาดเล็กลงและราคาถูกลง โดยมีสาเหตุมาจากการพัฒนาของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรมขนส่งอวกาศ (Space Transportation) เกิดการปฏิวัตินวัตกรรมเรื่องระบบนำส่งโดยการใช้จรวดแบบนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Reusable Rocket) และแบบจำลองธุรกิจใหม่ เช่น การใช้จรวดขนส่งร่วมกัน (Shared Ride) ทำให้ต้นทุนในการส่งลดลง และแต่ละครั้งจรวดจะสามารถส่งดาวเทียมได้ที่ละหลายดวง แตกต่างจากในอดีตที่จะสร้างดาวเทียมดวงใหญ่และส่งขึ้นไปที่ละดวง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นเหตุให้เกิดการเติบโตของธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ ทั้งในส่วนของดาวเทียมอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ เช่น Starlink, OneWeb, Amazon Kuiper และ Telesat Lightspeed และดาวเทียมสำรวจโลก เช่น บริษัท Maxar Technologies, Airbus Defense and Space และ Planet Labs เป็นต้น
รูปแสดงจรวดนำส่งที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่
รูปโดย SpaceX
นอกจากนี้ Starlink มีแผนการพัฒนาการสื่อสารระหว่างดาวเทียมผ่านแสงเลเซอร์เนื่องจากสัญญาณดาวเทียมสามารถเดินทางผ่านสุญญากาศได้เร็วกว่าผ่านสายไฟเบอร์ออปติก[5] ซี่งจะทำให้ผู้ให้บริการดาวเทียมสื่อสาร LEO จะมีความได้เปรียบการแข่งขันในด้านเวลาแฝงเหนือกว่าผู้ให้บริการการสื่อสารผ่านสายไฟเบอร์ออปติก
ในส่วนของดาวเทียมสำรวจโลกจะมีการเติบโตสูงมากเพราะการขยายตัวของการใช้งานภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีประเภทฐานข้อมูลขนาดใหญ่และปัญญาประดิษฐ์ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Orbital Insight ได้ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในการพยากรณ์น้ำมันสำรองทั่งโลก โดยวิเคราะห์จากการขยับขึ้นลงของฝาคลังน้ำมัน โดยบริษัทเสนอขายข้อมูลการพยากรณ์ให้กับสถาบันทางการเงิน (Hedge Fund) โดยการจะดำเนินการเช่นนี้ได้ บริษัทต้องมีฐานข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมทั่วโลกที่มีความละเอียดสูงและต้องมีการอัปเดตที่รวดเร็ว บริษัทต้องใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์และพยากรณ์ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อคาดการณ์ปริมาณน้ำมันสำรองของโลก โดยดาวเทียมสำรวจโลกจะใช้ข้อได้เปรียบในระยะทางที่ใกล้พื้นโลกในการถ่ายภาพโลกเพื่อให้ได้มาซึ่งภาพที่มีความละเอียดสูง
โดยการเติบโตของอุตสาหกรรมดาวเทียมจะส่งผลเกี่ยวเนื่องทั้งระบบห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เพราะเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่จะเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมดาวเทียม เช่น อุตสาหกรรมโทรคมมนาคม อุตสาหกรรมการแพทย์ระยะไกล อุตสาหกรรมรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง อุตสาหกรรมฐานข้อมูลขนาดใหญ่และปัญญาประดิษฐ์ และอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ ซึ่งต้องใช้ทั้งดาวเทียมสื่อสารและดาวเทียมสำรวจโลกในการเชื่อมโยงกับระบบอุปกรณ์ทางการทหาร โดยดาวเทียมจะมีการใช้งานแบบคู่ขนาน (Dual Use) ทั้งในส่วนของพลเรือนและการทหาร
ประเทศไทยจำเป็นต้องพลักดันตัวเองเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศ เนื่องจากเราจำเป็นที่จะต้องสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง เพราะวงโคจรถือเป็นทรัพยากรร่วมที่มีอยู่อย่างจำกัด (Common Pool Resources) [6] หมายความว่าหากประเทศที่มีความก้าวหน้าทางอวกาศเข้าใช้วงโคจรจนหมด จะส่งผลให้ประเทศไทยเสียเปรียบในทั้งสมรภูมิการค้าและการทหาร เพราะอุตสาหกรรมปลายน้ำรวมทั้งอุตสาหกรรมความมั่นคงจะอยู่ในมือของรัฐบาลและเอกชนของประเทศอื่น เมื่อใดก็ตามประเทศเหล่านั้นยุติการให้บริการเศรษฐกิจและการทหารของประเทศจะเกิดผลกระทบตามมา
สำหรับคำถามว่า “ทำอย่างไรที่ประเทศไทยจะผลักดันตัวเองให้เข้ามามีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจอวกาศใหม่ได้ ?”
ประการแรกประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนนโยบายจากการเป็นผู้เล่นโดยตรง มาเป็นการส่งเสริมภาคเอกชนภายในประเทศให้มากขึ้น การส่งเสริมภาคเอกชนจำเป็นต้องดำเนินการผ่านการสร้างตลาดภายในประเทศให้เข้มแข็ง โดยใช้การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ โดยสนับสนุนให้เอกชนเข้ามาแข่งขันกันเพื่อดำเนินการพัฒนานวัตกรรมด้านอวกาศ ในรูปแบบสัญญาโครงการสร้างต้นแบบนวัตกรรมอวกาศ เมื่อเอกชนไทยทำได้จริงและชนะการประมูล หลังจากนั้นรัฐบาลไทยจึงสั่งผลิตตามเงื่อนไขของสัญญา แนวคิดนี้เป็นแนวคิดเดียวกับการผลิตต้นแบบเครื่องบินรบของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่บริษัท Boeing และ Lockheed Martin จะสร้างต้นแบบมากก่อนและเมื่อมีผู้ชนะรัฐบาลจะสั่งบริษัทผู้ชนะในการผลิตเครื่องบินรบให้แก่รัฐบาลสหรัฐ
ประการที่สอง รัฐบาลไทยจำเป็นต้องประสานองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ภายในประเทศ เพื่อสร้างกิจการอวกาศใหม่ ๆ โดยรัฐบาลควรจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังหรือให้การสนับสนุนทางอ้อม ผ่านสถาบันการเงิน (ทั้งธนาคารและกลุ่มทุนจำพวก Venture Capital)
ประการที่สาม หากเอกชนภายในประเทศไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอ รัฐบาลไทยควรเป็นสื่อกลางในการนำเอาเอกชนไทยไปหาพันธมิตรต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ถ่ายโอนความรู้ ความสามารถและนวัตกรรมในธุรกิจอวกาศ
ประการที่สี่ องค์กรธุรกิจไทยควรเข้ารวมทุนในกิจการด้านอวกาศกับรัฐบาลหรือเอกชนของประเทศอื่น ๆ เพื่อทำให้ประเทศไทยมีส่วนในการเป็นเจ้าของบริษัทดาวเทียมหรือกิจการอวกาศที่สำคัญต่าง ๆ
หากประเทศไทยช้า ประตูสู่การสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างยั่งยืนจะปิดลง ตามวงโคจรที่เหลือน้อยลงไปในทุกวัน ตามจำนวนดาวเทียมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (รวมถึงปริมาณขยะอวกาศที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการชนกันของวัตถุอวกาศ) โดย Starlink เพียงบริษัทเดียวมีแผนในการนำส่งดาวเทียมจำนวนถึง 42,000 ดวง [7] และเมื่อประตูแห่งโอกาสปิดลง ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการทหารจะตกอยู่ในมือของประเทศอื่น ๆ และประเทศไทยจะตกอยู่ในสภาวะผู้ใช้งานที่พึ่งพาความสามารถและศักยภาพของประเทศอื่นตลอดไป
อ้างอิง
[1] Morgan Stanley, “Space: Investing in the Final Frontier,” Morgan Stanley, 2020. https://www.morganstanley.com/ideas/investing-in-space (accessed Dec. 07, 2020).
[2] M. Mazzucato and D. K. R. Robinson, “Co-creating and directing Innovation Ecosystems? NASA’s changing approach to public-private partnerships in low-earth orbit,” Technol. Forecast. Soc. Change, vol. 136, pp. 166–177, Nov. 2018, doi: 10.1016/j.techfore.2017.03.034.
[3] Federal Aviation Administration, “The Annual Compendium of Commercial Space Transportation: 2018,” Federal Aviation Administration, Washington, D.C., 2018. Accessed: Jul. 07, 2020. [Online]. Available: https://www.faa.gov/about/office_org/headquarters_offices/ast/media/2018_AST_Compendium.pdf
[4] J. Garrity and A. Husar, Digital Connectivity and Low Earth Orbit Satellite Constellations: Opportunities for Asia and the Pacific, no. 76. Manila, Philippines: Asian Development Bank, 2021. Accessed: Sep. 12, 2021. [Online]. Available: https://www.adb.org/publications/digital-connectivity-low-earth-orbit-satellite-opportunities
[5] G. Ritchie and T. Seal, “Why Low-Earth Orbit Satellites Are the New Space Race,” Washington Post, 2020. Accessed: Oct. 12, 2020. [Online]. Available: https://www.washingtonpost.com/business/why-low-earth-orbit-satellites-are-the-new-space-race/2020/07/10/51ef1ff8-c2bb-11ea-8908-68a2b9eae9e0_story.html
[6] B. Weeden, “The Space Review: The economics of space sustainability,” 2012. https://www.thespacereview.com/article/2093/1 (accessed Jul. 28, 2021).
[7] A. Mann, “Starlink: SpaceX’s satellite internet project,” May 29, 2021. https://www.space.com/spacex-starlink-satellites.html (accessed Sep. 12, 2021).