เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 68 ที่ผ่านมา กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ เผยภาพอันน่าอัศจรรย์ของดาวคู่ Wolf-Rayet 140 ไขปริศนาการกำเนิดฝุ่นคาร์บอน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ดวงใหม่
ธาตุต่างๆ เช่น คาร์บอน เกิดขึ้นและแพร่กระจายไปทั่วอวกาศได้อย่างไร? นักดาราศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ สังเกตการณ์ดาวฤกษ์มวลมากคู่หนึ่งในระบบดาว Wolf-Rayet 140 ในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา ซึ่งอยู่ห่างจากโลกเพียง 5,000 ปีแสง
ดาวคู่ Wolf-Rayet 140 โคจรรอบกันและกันเป็นวงรี ทุกๆ 8 ปี เมื่อดาวทั้งสองโคจรเข้าใกล้กัน ลมดาวฤกษ์ที่รุนแรงจะปะทะกัน บีบอัดก๊าซและฝุ่น ก่อให้เกิดฝุ่นคาร์บอนจำนวนมหาศาล
การสังเกตการณ์ด้วยแสงอินฟราเรดระยะกลางของกล้องเจมส์ เวบบ์ เผยให้เห็นเปลือกฝุ่น 17 ชั้น ล้อมรอบดาวคู่นี้ แต่ละชั้นเกิดจากการปะทะกันของลมดาวฤกษ์ นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่า ยังมีเปลือกฝุ่นอีกมากมายที่จางหายไป และในอนาคต จะมีเปลือกฝุ่นเกิดขึ้นอีกนับพันชั้น
การค้นพบครั้งนี้ เป็นเสมือนจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ ที่ช่วยให้นักดาราศาสตร์ เข้าใจถึงต้นกำเนิดของคาร์บอน และกระบวนการสร้างดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ดวงใหม่ ซึ่งเป็นปริศนาที่สำคัญยิ่งในวงการดาราศาสตร์
เครดิตภาพและข้อมูล: NASA, ESA, CSA, STScI
– Webb Watches Carbon-Rich Dust Shells Form, Expand in Star System