6-7 กุมภาพันธ์ 2568 – ปักกิ่ง, สาธารณรัฐประชาชนจีน – กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านอวกาศ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศรอบดวงจันทร์ (MATCH) ในภารกิจฉางเอ๋อ 7 และจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิศวกรรมสำรวจอวกาศ CNSA-MHESI ในประเทศไทย
ภารกิจฉางเอ๋อ 7 เป็นโครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีนโดยใช้ยานหุ่นยนต์ มีเป้าหมายในการศึกษาองค์ประกอบ ภูมิประเทศ และสภาพแวดล้อมของขั้วใต้ของดวงจันทร์ รวมถึงการค้นหาแหล่งน้ำแข็ง และทดสอบเทคโนโลยีเพื่อการสร้างสถานีบนดวงจันทร์
อุปกรณ์ MATCH เป็นผลงานการพัฒนาโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NARIT) และมหาวิทยาลัยมหิดล มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจวัดสภาพอวกาศรอบดวงจันทร์ โดยจะติดตั้งไปกับยานโคจรรอบดวงจันทร์ของภารกิจฉางเอ๋อ 7 อุปกรณ์นี้จะทำการศึกษาอนุภาคพลังงานสูงในอวกาศ และผลกระทบที่มีต่อโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์
นอกจากภารกิจฉางเอ๋อ 7 แล้ว ทั้งสองประเทศยังได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในโครงการสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ (ILRS) ซึ่งรวมถึงการวิจัยขั้นแนวหน้า การพัฒนาอุปกรณ์วิทยาศาสตร์สำหรับยานอวกาศ และเทคโนโลยีการควบคุมและสื่อสารในอวกาศห้วงลึก
ความร่วมมือนี้ยังครอบคลุมถึงการสนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรไทยศึกษาต่อในระดับสูงด้านอวกาศ และการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิศวกรรมสำรวจอวกาศ CNSA-MHESI ในประเทศไทย ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการวิจัยอวกาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอุปกรณ์ ระบบควบคุม และการศึกษาวิจัยทางธรณีฟิสิกส์ของดวงจันทร์
สำหรับความร่วมมือครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนในด้านการสำรวจอวกาศ ทั้งสองประเทศมุ่งมั่นที่จะใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของกันและกันเพื่อการสำรวจดวงจันทร์และอวกาศห้วงลึกในอนาคต
ข้อมูลอ้างอิง: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)