เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า ทำไมต้องส่งกล้องโทรทรรศน์ไปอยู่ในอวกาศ ในเมื่อมีกล้องโทรทรรศน์บนโลกที่อยู่บนยอดเขาสูงหลายแห่งอยู่แล้ว และอย่างไหนจะศึกษาดาราศาสตร์ได้ดีที่สุด
ปัจจุบันมีกล้องโทรทรรศน์มากมาย หลายขนาดและหลายลักษณะ บางแบบก็อยู่บนโลก เช่น ระบบกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง 2,600 เมตร ในทะเลทราย อะตาคามา ประเทศชิลี ที่นี่มีระบบคอมพิวเตอร์ทันสมัยที่สุดใช้งาน
กล้องโทรทรรศน์อีกแบบหนึ่งอยู่ในอวกาศ เช่น กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) อยู่ในวงโคจรรอบโลก สูง 600 กิโลเมตร
กล้องโทรทรรศน์เกือบทุกแบบ จะมีอุปกรณ์พื้นฐานเหมือนกัน คือ มีกระจก มีอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ และระบบควบคุมการทำงาน
ส่วนสำคัญหลักคือกระจก จะเป็นตัวรวมแสงทั้งหมดที่มาจากดาวฤกษ์และกาแล็กซีที่อยู่ห่างไกล แต่ยังไม่ได้เป็นภาพขยายตามที่หลายคนคิดกัน
ต่อจากนั้นจะมีกระจกชุดที่ 2 สะท้อนแสงดังกล่าวไปยังอุปกรณ์อื่นของกล้อง ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์หลักสองส่วน ส่วนแรกคือกล้องถ่ายภาพ ซึ่งทำหน้าที่เหมือนกับกล้องถ่ายภาพดิจิทัลธรรมดา คือเป็นส่วนเก็บภาพถ่ายนั่นเอง
ต่อจากนั้นจะมี สเปกโตกราฟ คือ อุปกรณ์แยกแสงสีจากแสงที่รับมาให้เป็นองค์ประกอบของสีเหมือนที่เห็นในรุ้งกินน้ำ ซึ่งสามารถจะบอกคุณสมบัติทางกายภาพของวัตถุไกลๆ นั้นได้
แล้วใครจะเป็นผู้ชนะ กล้องโทรทรรศน์ที่อยู่บนโลกเป็นผู้ชนะใช่หรือไม่ เพราะมันมีขนาดใหญ่กว่าจึงรวมแสงของดาวฤกษ์และกาแล็กซีที่อยู่ไกลๆ ได้มากกว่า
หรือว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศเป็นผู้ชนะ เพราะภาพที่ได้มีความคมชัดมาก จากการที่อยู่เหนือเมฆและไม่ถูกชั้นบรรยากาศรบกวน
กล้องบนพื้นโลกจะได้ข้อมูลที่รวดเร็วกว่าและมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เช่น อุปกรณ์รับแสงที่ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดจากชั้นบรรยากาศในเรื่องแสงพร่ามัว และแสงกะพริบได้
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ชั้นบรรยากาศจะปิดกั้นแสงที่มีความยาวคลื่นบางช่วงเอาไว้ ซึ่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เช่นกล้องฮับเบิล ที่อยู่เหนือชั้นบรรยากาศ จึงสามารถรับช่วงคลื่น อัลตราไวโอเลตและอินฟราเรดได้ ซึ่งไม่สามารถรับได้จากพื้นโลก
กล้องโทรทรรศน์บนโลกมีข้อดีอีกอย่างคือ สามารถสังเกตได้ในพื้นที่กว้างใหญ่ต่อการส่องไปแต่ละครั้ง และต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน สามารถเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆ ได้ทันที เมื่อมีการพัฒนาอุปกรณ์ใหม่ๆ ขึ้นมา
นักดาราศาสตร์แต่ละทีม มักจะใช้ร่วมกันทั้งสองแบบ คือทั้งกล้องโทรทรรศน์ที่อยู่บนโลกและในอวกาศ เพื่อไขปริศนาในเอกภพ
จึงสรุปได้ว่า ไม่มีการแข่งขันกันแต่อย่างใด แต่เพื่อให้ได้ผลงานที่สมบูรณ์ที่สุด จึงมีการใช้กล้องทั้งสองแบบที่แตกต่างกัน มาทำงานเสริมกันและกัน ไม่ว่ากล้องจะเล็กหรือใหญ่ จะอยู่ซีกโลกเหนือหรือใต้ อยู่บนโลกหรือในอวกาศ
ทั้งหมดล้วนแล้วแต่ร่วมกันทำหน้าที่เดียวกันคือ เปิดเผยความลึกลับของสรรพสิ่งรอบตัวเรา
ข้อมูลจาก ESA/Hubble