นักดาราศาสตร์ทั่วโลกกำลังจับตาปรากฏการณ์สุดตื่นเต้น หลุมดำยักษ์ที่เคยหลับใหลมานาน ได้ตื่นขึ้นและปล่อยแสงวาบรังสีเอกซ์ (X-ray) ที่ทรงพลังและยาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) กำลังมีบทบาทสำคัญในการศึกษาปรากฏการณ์นี้ ซึ่งเป็นโอกาสพิเศษในการทำความเข้าใจพฤติกรรมลึกลับของหลุมดำ
หลุมดำมวลยวดยิ่ง (Supermassive black holes) ซึ่งมีมวลเป็นล้านเท่าของดวงอาทิตย์ ซ่อนตัวอยู่ใจกลางกาแล็กซีส่วนใหญ่ แต่ด้วยธรรมชาติที่ยากต่อการสังเกต ทำให้พวกมันมักอยู่ในสภาวะสงบ เช่นเดียวกับหลุมดำที่อยู่ใจกลาง “เอสดีเอสเอส1335+0728” (SDSS1335+0728) ซึ่งเป็นกาแล็กซีอันห่างไกลในกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo)
แต่แล้ว ในช่วงปลายปี 2019 กาแล็กซีนี้ก็เริ่มส่องแสงสว่างขึ้นอย่างผิดปกติ ดึงดูดความสนใจของนักดาราศาสตร์ หลังจากการศึกษาเป็นเวลาหลายปี นักวิทยาศาสตร์สรุปว่า การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลจากการตื่นขึ้นของหลุมดำ และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ที่ผ่านมา หลุมดำนี้ได้ปล่อยแสงวาบรังสีเอกซ์ออกมาเป็นจังหวะ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า #การปะทุแบบกึ่งคาบ (Quasiperiodic eruption) หรือ คิวพีอี (QPE) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักและยังไม่เป็นที่เข้าใจถึงสาเหตุที่แน่ชัด
ทีมวิจัยนานาชาติกำลังใช้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีเอกซ์ (X-ray space telescopes) เช่น เอ็กซ์เอ็มเอ็ม-นิวตัน (XMM-Newton) ไนเซอร์ (NICER), จันทรา (Chandra) และสวิฟต์ (Swift) เพื่อศึกษาหลุมดำที่ตื่นขึ้นนี้ ซึ่งมีชื่อเล่นว่า แอนสกี (Ansky) อย่างละเอียด
ข้อมูลจาก เอ็กซ์เอ็มเอ็ม-นิวตัน เผยให้เห็นว่า แสงวาบรังสีเอกซ์จากแอนสกีมีความยาวนานกว่าและสว่างกว่า คิวพีอี ทั่วไปถึงสิบเท่า แต่ละครั้งที่เกิดการปะทุ ปลดปล่อยพลังงานมากกว่าที่เคยพบเห็นจากที่อื่นถึงร้อยเท่า นอกจากนี้ จังหวะของการปะทุยังยาวนานที่สุดเท่าที่เคยสังเกตมา คือ ประมาณ 4 วันครึ่ง ซึ่งท้าทายความเข้าใจเดิมเกี่ยวกับปรากฏการณ์เหล่านี้
การได้เฝ้าดูวิวัฒนาการของแอนสกีแบบเรียลไทม์ เปิดโอกาสให้นักดาราศาสตร์ได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับหลุมดำและปรากฏการณ์พลังงานสูงที่เกี่ยวข้อง นักวิทยาศาสตร์หวังว่า การศึกษาครั้งนี้จะช่วยไขปริศนาพฤติกรรมของหลุมดำมวลยวดยิ่ง และทำความเข้าใจเกี่ยวกับ คลื่นความโน้มถ่วง (Gravitational waves) ได้มากยิ่งขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง: ESA
– From boring to bursting: a giant black hole awakens