วันที่ 22 กันยายน 2567 เป็น “วันศารทวิษุวัต” (อ่านว่า สา-ระ-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) ซึ่งเป็นวันที่กลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากันทั่วโลก เนื่องจากดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี

  • สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ วันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นของฤดูใบไม้ร่วง
  • สำหรับประเทศทางซีกโลกใต้ วันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ

แม้ว่าเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นและตกในวันศารทวิษุวัตจะดูไม่เท่ากัน โดยดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 06:07 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:14 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร) แต่หากนับจากจุดกึ่งกลางของดวงอาทิตย์ที่เคลื่อนผ่านขอบฟ้าแล้ว วันนี้จะมีกลางวันและกลางคืนยาวนาน 12 ชั่วโมงเท่ากัน

คำว่า “Equinox” มาจากภาษาละติน แปลว่า “กลางวันยาวนานเท่ากับกลางคืน” ซึ่งตรงกับคำว่า “วิษุวัต” ในภาษาสันสกฤต ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ได้แก่ วสันตวิษุวัต (ช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ) และ ศารทวิษุวัต (ช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง)

ปรากฏการณ์สำคัญถัดไปเกี่ยวกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ คือ “วันเหมายัน” (อ่านว่า เห-มา-ยัน) ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคม 2567 เป็นวันที่กลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี


ข้อมูลอ้างอิง : สดร.