น่าทึ่งมากที่สัตว์หลายชนิดสามารถมองเห็นดวงดาวบนท้องฟ้าได้ และมีสัตว์ชนิดหนึ่งที่ใช้ทางช้างเผือกในการนำทาง นั่นก็คือ ด้วงขี้ควาย (dung beetle)
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ด้วงใช้แสงโพลาไรซ์จากดวงอาทิตย์ในการนำทาง แต่แล้วตอนกลางคืนล่ะ พวกมันทำยังไง? ตอนแรกคิดว่าน่าจะเป็นดวงจันทร์ แต่วันที่ไม่มีดวงจันทร์ล่ะ? ปรากฏว่าพวกมันใช้ทางช้างเผือก! ซึ่งได้รับการยืนยันโดยการพาพวกมันไปท้องฟ้าจำลอง นักวิทยาศาสตร์พบว่าด้วงขี้ควายใช้การมองเห็นทางช้างเผือกแทนที่จะใช้สนามแม่เหล็ก
งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology เมื่อปี ค.ศ. 2013 โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลุนด์ในสวีเดน นำโดย ดร.มารี ดัคเคอ พวกเขาศึกษาพฤติกรรมของด้วงขี้ควายชนิดแอฟริกัน (Scarabaeus satyrus) เจ้าพวกนี้ขึ้นชื่อเรื่องการกลิ้งมูลสัตว์เป็นก้อนกลมๆ แล้วกลิ้งหนีไปให้ไกลที่สุดเพื่อกินหรือใช้เป็นแหล่งวางไข่
แต่การจะกลิ้งมูลไปเป็นเส้นตรงโดยไม่หลงทิศหลงทางในทุ่งกว้างนั้นไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน! นักวิทยาศาสตร์เลยสงสัยว่าพวกมันมีวิธีนำทางยังไง
ในการทดลอง พวกเขาสร้าง “สนามทดลอง” กลางแจ้งขึ้นมา แล้วปล่อยให้ด้วงกลิ้งมูลพร้อมกับบันทึกเส้นทางการเคลื่อนที่ สิ่งที่พบคือ ในคืนที่ฟ้าใส ด้วงจะกลิ้งมูลเป็นเส้นตรงได้อย่างน่าทึ่ง แต่ในคืนที่มีเมฆมากบดบังทางช้างเผือก พวกมันจะเริ่มหลงทิศทาง
เพื่อยืนยันว่าด้วงใช้ทางช้างเผือกในการนำทางจริงๆ พวกเขาเลยจัดการทดลองในท้องฟ้าจำลอง โดยจำลองทางช้างเผือกขึ้นมาบนโดม ปรากฏว่าด้วงขี้ควายสามารถกลิ้งมูลไปตามทิศทางที่ต้องการได้ แม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยก็ตาม
ที่เด็ดสุดคือการทดลอง “หมวกบังตา” พวกเขาให้ด้วงใส่หมวกใบเล็กๆ โดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกใส่หมวกทึบแสง ส่วนกลุ่มที่สองใส่หมวกแบบโปร่งใส ผลปรากฏว่าด้วงกลุ่มที่ใส่หมวกทึบแสง ซึ่งมองไม่เห็นทางช้างเผือก กลิ้งมูลไปแบบไร้ทิศทาง ในขณะที่ด้วงกลุ่มที่ใส่หมวกโปร่งใสยังคงกลิ้งมูลเป็นเส้นตรงได้
งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า ด้วงขี้ควายเป็นสัตว์ชนิดแรกๆ ที่เรารู้จัก ซึ่งสามารถใช้ดวงดาวในการนำทาง แถมยังเป็นการใช้ทางช้างเผือก ซึ่งเป็นกาแล็กซีของเราเองในการระบุทิศทางอีกด้วย นับเป็นความสามารถที่น่าทึ่งของสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ เลยทีเดียว
ข้อมูลอ้างอิง
– Dacke, M., Baird, E., Byrne, M., Scholtz, C. H., & Warrant, E. J. (2013). Dung beetles use the Milky Way for orientation.