ดาวเสาร์เป็นที่รู้จักและมีภาพจดจำจากระบบวงแหวน ดาวพฤหัสบดี ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูนก็มีวงแหวนเช่นกัน แต่โลกของเราเคยมีวงแหวนหรือไม่?
หลุมอุกกาบาต ทั่วโลก อาจเป็นหลักฐานชี้ให้เห็นถึงการมีอยู่ของวงแหวนรอบโลกเมื่อหลายล้านปีก่อน ซึ่งเป็นไปได้ว่าโลกจับและทำลายดาวเคราะห์น้อยที่เข้าใกล้เกินไปเมื่อ 466 ล้านปีก่อน เศษซากของดาวเคราะห์น้อยที่ถูกฉีกออกเป็นชิ้นๆ โคจรรอบโลกเป็นวงแหวน จากนั้นชิ้นส่วนแต่ละชิ้นก็หล่นเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ตกลงสู่พื้นผิว และทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตที่สังเกตเห็นได้ในปัจจุบัน
ส่วนต้นกำเนิดของวงแหวนของดาวก๊าซยักษ์เป็นสาเหตุของการถกเถียงกันมานานหลายทศวรรษ คำอธิบายที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ วงแหวนก่อตัวขึ้นจากเศษซากของดวงจันทร์หรือวัตถุท้องฟ้าอื่นๆ ที่เข้าใกล้ดาวเคราะห์แม่มากเกินไป แรงโน้มถ่วงอันรุนแรงจากดาวเคราะห์ทำให้วัตถุเหล่านี้แตกออกเป็นเสี่ยงๆ ในกระบวนการที่เรียกว่า tidal disruption
ในบทความที่ตีพิมพ์โดย Andrew G. Tomkins และทีมนักวิจัย ระบุว่าโลกอาจเคยมีวงแหวนของตัวเองในอดีต ปฏิสัมพันธ์ระหว่างโลกและวัตถุจากภายในระบบสุริยะของเรานั้นเห็นได้ชัด หลุมอุกกาบาตแอริโซนาและเหตุการณ์ Chicxulub impact ได้ทิ้งร่องรอยไว้บนโลกของเรา แต่ในช่วง 540 ล้านปีที่ผ่านมา เหตุการณ์การเกิดหลุมอุกกาบาตเพิ่มขึ้น ข้อมูลในชั้นหินปูนทั่วโลกพบว่ามีระดับของอุกกาบาตหิน และเศษอุกกาบาตขนาดเล็กเพิ่มขึ้น
Tomkins และทีมงานของเขาได้เสนอทฤษฎีว่า ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่เกือบชนกับโลกเมื่อประมาณ 466 ล้านปีก่อน หากวัตถุนั้นผ่านเข้าไปในขีดจำกัดโรช (Roche Limit) วัตถุจะถูกแรงโน้มถ่วงของโลกฉีกแตกออก และก่อตัวเป็นวงแหวนเศษซาก จากนั้นเกิดการสลายตัวของอนุภาคของวงแหวนที่เกิดขึ้นจะคงอยู่เป็นเวลาหลายสิบล้านปีก่อนที่จะตกตะกอนในบันทึกหินปูน เกิดการค้นพบในยุคปัจจุบันนี้
ข้อมูลอ้างอิง : Universe Today