ปรากฏการณ์แสงโลก (earthshine) เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดจากแสงอาทิตย์สะท้อนกับผิวโลกไปยังดวงจันทร์ และสะท้อนกลับมายังผู้สังเกตบนโลกอีกต่อหนึ่ง ทำให้ผู้สังเกตบนโลกเห็นแสงจาง ๆ จากด้านกลางคืนของดวงจันทร์ ปรากฏการณ์นี้จะสังเกตได้ดีในช่วงวันขึ้น 1–3 ค่ำ หรือ แรม 12–14 ค่ำ ซึ่งเป็นช่วงจันทร์ดับ เมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดวงจันทร์มืดมิด แต่หากสังเกตจากดวงจันทร์ จะเห็นว่าโลกมีแสงสว่าง การเกิดแสงโลกนี้จะทำให้เห็นพื้นผิวดวงจันทร์ได้เกือบทั้งหมด
เลโอนาร์โด ดา วินชี ได้เคยอธิบายปรากฏการณ์นี้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 16 เมื่อเขาเห็นว่าโลกและดวงจันทร์นั้นสะท้อนแสงอาทิตย์ในเวลาเดียวกัน
หากเกิดปรากฏการณ์เดียวกันบนดาวเคราะห์ดวงอื่น จะเรียกว่า “planetshine”
ภาพนี้เป็นภาพถ่ายเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 โดยนักบินอวกาศ ภารกิจ Expedition 71 บนสถานีอวกาศนานาชาติ ได้บันทึกภาพอันมหัศจรรย์ของดวงจันทร์ไว้ แสดงให้เห็นดวงจันทร์ในช่วงข้างขึ้น มองเห็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ทางด้านขวาของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นด้านที่รับแสงอาทิตย์ ส่วนที่เหลือของดวงจันทร์เรืองแสงได้แม้จะไม่สว่างมากนักก็ตาม เพราะได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ที่สะท้อนออกจากพื้นผิวโลก ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า แสงโลก (earthshine)
ขอบฟ้าของโลกที่สว่างด้านล่าง มองเห็นภาพตัดขวางของชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งมีชั้นโทรโพสเฟียร์ (troposphere) สีส้ม ที่อยู่ใกล้พื้นผิวมากที่สุด และชั้นสตราโตสเฟียร์ (stratosphere) สีฟ้าอ่อนที่หนากว่าซึ่งอยู่ชั้นบน