แนคแซท 2 หรือ KNACKSAT-2 เป็นโครงการดาวเทียมคิวบ์แซท (CubeSat) ขนาด 3U (30 x 10 x 10 ซม.) พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) มีรูปแบบเป็น Ride Sharing Platform Satellite หรือการแชร์พื้นที่ใช้สอยบนดาวเทียมร่วมกัน โดยดาวเทียมแนคแซท 2 มีพื้นที่ในการบรรจุเพย์โหลดเพื่อปฏิบัติภารกิจ (Mission Payload) ทั้งหมด 7 ระบบ โดยแต่ละเพย์โหลดเป็นโครงการความร่วมมือพัฒนาระหว่าง มจพ. กับหน่วยงานอีก 7 หน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ
1. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
2. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด
3. ร.ร.เตรียมวิศวกรรมไทย-เยอรมัน มจพ.
4. Rail Systems Cluster มจพ.
5. สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
6. UiTM ประเทศมาเลเซีย
7. UPHSD ประเทศฟิลิปปินส์
โดย บพข. ได้ให้ทุนสนับสนุนแก่ มจพ. ในโครงการพัฒนาอุปกรณ์ IoT ฐานอวกาศเพื่อการสาธิตในวงโคจร ภายใต้แผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม โดยมี บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เป็นผู้ร่วมทุนในการวิจัยและพัฒนา เพื่อออกแบบและพัฒนา Payload อุปกรณ์ IoT ทำงานผ่านดาวเทียมเพื่อสร้างตัวอย่างการใช้งานเชิงธุรกิจ โดยคณะวิจัยได้ทำการพัฒนา IoT ออกเป็น 2 เพย์โหลด หรืออุปกรณ์เพื่อปฏิบัติภารกิจ สาธิตการทำงานของ IoT gateway และภารกิจ Store and Forward บนอวกาศ ซึ่งทั้งสองเพย์โหลดมีความสามารถในการทำงานพื้นฐานที่คล้ายกัน คือ สามารถรับสัญญาณ LoRa จากสถานีบนโลกได้
ทั้งนี้ทั้ง 2 เพย์โหลด มีความแตกต่างกันในด้านความซับซ้อนของการทำงาน โดยโหลดที่มีความซับซ้อนน้อยจะเรียกชื่อว่า “Postman” และสำหรับเพย์โหลดที่มีความซับซ้อนมากกว่าจะเรียกชื่อว่า “Chef” โดยทั้งสองระบบนี้จะถูกบรรจุลงในดาวเทียมแนคแซท 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากห้วงอวกาศ ให้สามารถเข้าถึงอวกาศได้ง่ายขึ้นโดยใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะนี้ดาวเทียมแนคแซท 2 ได้ถูกพัฒนาเสร็จสมบูรณ์และพร้อมนำออกจากประเทศไทยแล้ว โดยทาง มจพ. มีกำหนดการนำดาวเทียมแนคแซท 2 ออกจากประเทศไทยออกจากประเทศไทยในวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำส่งเข้าวงโคจรจากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2567 โดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท NBSPACE มหาวิทยาลัย Kyushu Institute of Technology (KyuTech) และ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA)