โดยปกติแล้วดวงดาวที่คนไทยเรียกกันนั้นจะหมายถึง ดาวฤกษ์ (star) คือ พวกที่มีแสงในตัว มีปฏิกิริยาเกิดขึ้นข้างในตลอดเวลา ในสุริยะจักรวาล ได้แก่ ดวงอาทิตย์ ส่วนดาวที่เหลือคือ ดาวเคราะห์ (planet) ดังนั้นถ้าเราพูดถึงคำว่า วัฏจักรชีวิตของดวงดาว ก็จะหมายถึงดาวฤกษ์ที่มีแสง มีพลังงาน มีปฏิกิริยานิวเคลียร์ (ฟิวชัน) อยู่ข้างในเป็นหลัก

วัฏจักรชีวิตดวงดาวเริ่มจาก Stellar Nebula เป็นกลุ่มฝุ่นของแก๊สในอวกาศที่หมุนวนมากระจุกกันตรงกลาง เกิดเป็น เนบิวลา (nebula) การรวมตัวนี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาฟิวชัน ซึ่งจะใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงหลอมรวมกัน เมื่อถึงจุดหนึ่งไฮโดรเจนจะถูกใช้หมดไป เกิดเป็นธาตุที่หนักขึ้นเรื่อย ๆ (โดยทั่วไปจะหยุดที่ธาตุเหล็กไม่มากไปกว่านั้น) และเพิ่มความหนาแน่นจนกลายเป็นดาวฤกษ์

วัฏจักรชีวิตดวงดาวมี 2 แนวทาง ทางแรกคือ ดวงดาวกลายเป็นดาวยักษ์แดง (red giant) ซึ่งอาจจะดึงดูดมวลที่เป็นฝุ่นแก๊สเข้ารวมเป็นเนบิวลาอีกรอบ แล้วหดตัวกลายเป็นดาวเคราะห์แคระสีขาว (white dwarf)

อีกแนวทางหนึ่งคือ ดาวฤกษ์มีมวลมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นดาวยักษ์ใหญ่แดง (red supergiant) แล้วค่อยยุบตัวลงมาเป็นดาวนิวตรอน (neutron star) ไปรวมอยู่ตรงบริเวณที่เป็นนิวเคลียส ถ้ามีความหนาแน่นสูงมากจะเกิดแรงโน้มถ่วงมหาศาลจนระเบิด เรียกว่า ซูเปอร์โนวา ซึ่งเป็นการกระตุ้นสารที่สร้างอยู่แล้วในเบื้องต้นคือ ธาตุเหล็ก ให้มีนิวเคลียสแน่นขึ้นไปอีกจนกลายเป็นธาตุที่หนักกว่าเหล็ก แล้วเกิดเป็นดาวเคราะห์ทั่วไป หรือถ้าระเบิดแรงมากอาจจะเกิดเป็นหลุมดำ (blackhole)

สรุปแล้วดาวฤกษ์มีชะตากรรมหลายแบบ ขึ้นกับตัวมวลของดาว ถ้ามวลไม่มากอาจจะจบแบบดาวฤกษ์ของเรา คือ ขยายเป็นดาวยักษ์แดง หรือถ้ามวลมากขึ้นจะกลายเป็นดาวยักษ์ใหญ่แดง หรืออาจเกิดเป็นซูเปอร์โนวาแล้วอาจกลายเป็นดาวนิวตรอนหรือหลุมดำก็ได้ จุดจบจะแตกต่างกัน

ปรากฏการณ์ดาวตกและดาวกะพริบเป็นวัฏจักรชีวิตดวงดาวหรือไม่ ?

ดาวกะพริบที่เราเห็นบนท้องฟ้าคือ ดาวฤกษ์ (star) ที่มีแสงในตัวเอง เกิดจากปฏิกิริยาฟิวชัน ส่วนดาวที่ไม่กะพริบ เช่น ดวงจันทร์ คือ ดาวเคราะห์ (planet) ที่ไม่มีแสงในตัวเอง

ดาวตก คือ เศษชิ้นส่วนหรือเศษฝุ่นของดาวหางกับอุกกาบาตที่หลุดเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกตอนโลกโคจรผ่านเข้าไปในชั้นกลุ่มเมฆออร์ต (Oort cloud) ถ้าตกเยอะมากก็เรียกว่า ฝนดาวตก

มีฝนดาวตกที่เกิดขึ้นประจำในบางเดือน เช่น ฝนดาวตกไอโอนิกส์ ฝนดาวตกนายพราน เกิดจากโลกเคลื่อนที่เข้าไปในกลุ่มเศษชิ้นส่วน/ฝุ่นของดาวหางบางชนิดที่เป็นกลุ่มดาวที่เคลื่อนที่ด้วย


ข้อมูลโดย
ดร.บุรินทร์ อัศวพิภพ และ ดร.ชิโนรัตน์ กอบเดช