นักวิทยาศาสตร์เผยตำแหน่งหลุมอุกกาบาตที่เกิดจากการพุ่งชนของยานอวกาศ LCROSS ของนาซา ในปี ค.ศ. 2009 ซึ่งซ่อนตัวอยู่ในเงามืดบนดวงจันทร์
หลังจากเวลาผ่านไป 15 ปี นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบตำแหน่งที่แน่นอนของหลุมอุกกาบาตที่เกิดจากการพุ่งชนของยานอวกาศ LCROSS ในปี ค.ศ. 2009 ซึ่งภารกิจ LCROSS (Lunar Crater Observation and Sensing Satellite) มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาน้ำแข็งและสารระเหยอื่นๆ ใต้พื้นผิวดวงจันทร์ แม้ภารกิจจะประสบความสำเร็จในการปลุกฝุ่นผงและเศษหินที่ปกคลุมพื้นผิวดวงจันทร์ที่อุดมไปด้วยน้ำให้พวยพุ่งขึ้นมา แต่หลุมอุกกาบาตที่เกิดขึ้นกลับซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่เงามืด ทำให้ยากต่อการสังเกตการณ์
การค้นพบครั้งนี้ใช้ข้อมูลจากเครื่องมือ Miniature Radio Frequency บนยาน Lunar Reconnaissance Orbiter (LRO) และกล้อง ShadowCam บนยาน Korea Pathfinder Lunar Orbiter ซึ่งมีความไวแสงสูงมาก จนสามารถมองเห็นในพื้นที่มืดมิดบนดวงจันทร์
หลุมอุกกาบาต LCROSS มีขนาดประมาณ 22 เมตร ซึ่งจากผลการวิเคราะห์พบว่า ชั้นฝุ่นผงและเศษหินที่ปกคลุมพื้นผิวดวงจันทร์ (regolith) ที่ถูกพุ่งออกมาจากหลุมอุกกาบาต น่าจะถูกรบกวนเมื่อ 100 ถึง 500 ล้านปีก่อน และตำแหน่งที่ LCROSS ชน เข้าสู่เงามืดถาวรเมื่อประมาณ 900 ล้านปีก่อน ซึ่งข้อมูลนี้สนับสนุนแนวคิดที่ว่า สารระเหยบนดวงจันทร์อาจมาจากนอกดวงจันทร์ เช่น ดาวหาง ดาวเคราะห์น้อย หรือลมสุริยะ
การค้นพบครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการทำความเข้าใจต้นกำเนิดและการกระจายตัวของน้ำบนดวงจันทร์ และจะเป็นประโยชน์ต่อภารกิจสำรวจดวงจันทร์ในอนาคต เช่น ภารกิจ Volatiles Investigating Polar Exploration Rover (VIPER) เพื่อค้นหาแหล่งน้ำแข็งและทรัพยากรที่มีค่าอื่นๆ ในบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ โดยจะเดินทางไปยังหลุมอุกกาบาตที่อยู่ในเงามืดถาวร ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำแข็งสะสมอยู่
ข้อมูลอ้างอิง : Eos.
Fifteen Years Later, Scientists Locate a Lunar Impact Site