lunar-gateway-nasa

ในปัจจุบัน เรามีมนุษย์อยู่อาศัยบนอวกาศอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเริ่มใช้งานสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ International Space Station (ISS) อย่างเป็นทางการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 2000

สถานีอวกาศนานาชาติ เป็นจุดเริ่มต้นของการทดลอง วิจัย และเตรียมความพร้อมให้มนุษย์เดินทางไปได้ไกลขึ้นกว่าเดิม ซึ่งก้าวถัดไปของมนุษยชาติในการสำรวจอวกาศ เริ่มต้นจากการกลับไปสำรวจดวงจันทร์ในระยะยาว ดั่งเช่นเป้าหมายในโครงการอาร์ทีมิส (Artemis) ของ NASA

นั่นคือจุดที่สถานีอวกาศ Lunar Gateway เข้ามามีบทบาทสำคัญ ในฐานะสถานีอวกาศแห่งแรกที่อยู่ไกลกว่าวงโคจร Low Earth Orbit และเป็นโครงสร้างสำคัญสำหรับภารกิจส่งนักบินอวกาศกลับไปดวงจันทร์ รวมถึงการมุ่งหน้าสู่ดาวอังคารและเป้าหมายอื่นในระบบสุริยะ

การศึกษาสถานีอวกาศในวงโคจรรอบดวงจันทร์ เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในปี 2012 โดยอาศัยองค์ความรู้จากสถานีอวกาศในวงโคจรรอบโลก เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับสถานีที่อยู่ห่างจากโลกไปกว่า 400,000 กิโลเมตร หรือมากกว่าสถานีอย่าง ISS เกือบ 100 เท่าด้วยกัน

ในปัจจุบัน Lunar Gateway ถูกออกแบบให้มีส่วนประกอบหลัก ๆ อยู่ 5 โมดูล ได้แก่

Power and Propulsion Element หรือ PPE เป็นโมดูลบริการ ที่ให้พลังงาน ระบบสื่อสาร การควบคุมตำแหน่ง และระบบยังชีพที่จำเป็นแก่สถานี Lunar Gateway

Habitation and Logistics Outpost หรือ HALO โมดูลอยู่อาศัยหลักของนักบินอวกาศ เป็นเหมือนส่วนบังคับการของภารกิจ รองรับลูกเรือ 4 คนได้นานกว่า 30 วัน พร้อมกับมีช่องให้เชื่อมต่อที่หลากหลาย รองรับยานอวกาศที่เดินทางมาเยือน หรือส่วนต่อขยายของสถานีในอนาคต

Lunar I-Hab เป็นส่วนต่อขยายสำหรับการใช้ชีวิต ทดลอง และปฏิบัติงานโดยนักบินอวกาศ สร้างโดยองค์การอวกาศยุโรป (ESA) และญี่ปุ่น (JAXA) และมีกำหนดนำส่งไปกับภารกิจอาร์ทีมิส 4 ใน ปี ค.ศ. 2028

Crew and Science Airlock เป็นส่วนแอร์ล็อคสำหรับออกไปทำงานภายนอกสถานีของนักบินอวกาศ รวมถึงนำส่งการทดลองออกไปสู่อวกาศลึก สร้างโดยองค์การอวกาศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (MBRSC)

Lunar View โมดูลส่วนต่อขยาย ที่มาพร้อมกับการเติมเสบียง เชื้อเพลิง พื้นที่เก็บของเพิ่มเติม และกระจกบานใหญ่สำหรับมองและถ่ายภาพดวงจันทร์ สร้างโดยองค์การอวกาศยุโรป (ESA)

โมดูลในข้างต้น จะถูกนำไปประกอบรวมในวงโคจรรอบดวงจันทร์ แบบเดียวกับการก่อสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ โดยเริ่มจากการนำส่งโมดูล PPE และ HALO ในปี 2025 กับจรวด Falcon Heavy ของบริษัท SpaceX เพื่อรองรับภารกิจอาร์ทีมิส 4 ที่มีแผนส่งนักบินอวกาศไปลงสำรวจดวงจันทร์ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2028

หากไม่มีอะไรผิดพลาด สถานี Lunar Gateway จะก่อสร้างแล้วเสร็จอย่างเร็วที่สุดในปี 2031 เพื่อรองรับภารกิจต่าง ๆ ของโครงการอาร์ทีมิส ตั้งแต่อาร์ทีมิส 4 เป็นต้นไป โดยมีนักบินอวกาศ 2 คนที่เคลื่อนย้ายไปยังยานลงดวงจันทร์ที่เชื่อมต่อกับ Lunar Gateway ระหว่างที่อีก 2 คนจะอยู่ปฏิบัติงานบนสถานีอวกาศในวงโคจรรอบดวงจันทร์

ข้อแตกต่างจากสถานีอวกาศนานาชาติ นอกจากขนาดที่ค่อนข้างเล็กกว่าแล้ว Lunar Gateway ไม่ได้ถูกออกแบบให้รองรับการอยู่อาศัยของนักบินอวกาศอย่างต่อเนื่องเหมือนกับ ISS เนื่องจากข้อจำกัดด้านระบบยังชีพ การขนส่งเสบียงและสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นกับการดำรงชีวิต และความเสี่ยงในการเผชิญกับรังสีจากการอยู่อาศัยเป็นระยะเวลายาวนาน แต่ยังคงมีการทดลองที่ดำเนินต่อไปโดยอัตโนมัติ หรืออาศัยการควบคุมจากเจ้าหน้าที่บนโลก ในระหว่างไม่มีนักบินอวกาศปฏิบัติงานบนสถานีได้นานกว่า 3 ปี

สำหรับ Lunar Gateway เป็นความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น แคนาดา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยที่รัสเซีย หนึ่งในพันธมิตรของสถานีอวกาศนานาชาติ ได้ถอนตัวไปจากโครงการดังกล่าวเมื่อปี 2020 และมีส่วนในการร่วมพัฒนาสถานี International Lunar Research Station หรือ ILRS กับประเทศจีน โดยประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าว ตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 2024 ที่ผ่านมา


ข้อมูลอ้างอิง : GISTDA
https://www.nasa.gov/reference/gateway-about