นักวิจัยเผยทฤษฎีใหม่ ดวงจันทร์ อาจก่อตัวจากการ “ถูกจับ” ไม่ใช่จากการชน
เป็นเวลากว่า 40 ปี ที่วงการวิทยาศาสตร์เชื่อว่าดวงจันทร์ถือกำเนิดขึ้นจากเศษซากการชนกันระหว่างโลกยุคแรกกับวัตถุขนาดใหญ่ ทฤษฎีนี้เกิดขึ้นหลังจากนักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์หินและดินจากดวงจันทร์ที่นักบินอวกาศในภารกิจอะพอลโลนำกลับมายังโลก ซึ่งพบว่ามีองค์ประกอบคล้ายคลึงกับหินบนโลก
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยใหม่จากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตต (Penn State) เผยแพร่ในวารสาร The Planetary Science Journal ได้เสนอแนวคิดใหม่ที่น่าสนใจ โดยระบุว่า ดวงจันทร์อาจไม่ได้เกิดจากการชน แต่เกิดจากการที่โลก “จับ” ดวงจันทร์เข้ามาเป็นบริวาร
ทำไมทฤษฎีเดิมถึงเป็นที่สงสัย?
ดาร์เรน วิลเลียมส์ ศาสตราจารย์ด้านดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ กล่าวว่า ทฤษฎีการชนมีข้อสงสัยอยู่หลายประการ เช่น หากดวงจันทร์เกิดจากการชนจริง วงโคจรของมันควรจะอยู่ในแนวเดียวกับเส้นศูนย์สูตรของโลก แต่ในความเป็นจริง วงโคจรของดวงจันทร์เอียงทำมุมกับเส้นศูนย์สูตร
ทฤษฎีใหม่ “การจับจากระบบดาวคู่”
วิลเลียมส์ และไมเคิล ซักเกอร์ วิศวกรวิจัยอาวุโส เสนอว่า ดวงจันทร์อาจเคยเป็นส่วนหนึ่งของระบบดาวคู่ (binary system) ซึ่งประกอบด้วยวัตถุหินสองดวงโคจรรอบกันและกัน เมื่อระบบดาวคู่นี้เคลื่อนที่เข้าใกล้โลก แรงโน้มถ่วงของโลกได้ดึงดูดดวงจันทร์เข้ามาเป็นบริวาร
มีหลักฐานอะไรสนับสนุนทฤษฎีนี้?
วิลเลียมส์ อ้างอิงถึง ไทรทัน ดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวเนปจูน ซึ่งมีวงโคจรเอียงและเคลื่อนที่ในทิศทางตรงกันข้ามกับการหมุนของดาวเนปจูน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าไทรทันถูกดึงดูดเข้ามาจากแถบไคเปอร์ ซึ่งมีวัตถุจำนวนมากอยู่ในระบบดาวคู่
การคำนวณทางคณิตศาสตร์ช่วยยืนยัน
จากการคำนวณการเปลี่ยนแปลงของแรงไทดัล (Tidal force) คือแรงที่เกิดจากความแตกต่างของแรงโน้มถ่วงที่กระทำต่อวัตถุขนาดใหญ่ ขนาดและรูปร่างของวงโคจร พบว่าวงโคจรของดวงจันทร์ในช่วงแรกเป็นวงรี แต่แรงไทดัลทำให้วงโคจรค่อยๆ หดตัวและกลายเป็นวงกลมมากขึ้น จนกระทั่งการหมุนของดวงจันทร์ถูกล็อก ให้ตรงกับคาบการโคจรรอบโลก ปัจจุบันดวงจันทร์กำลังเคลื่อนที่ห่างจากโลกประมาณ 3 เซนติเมตรต่อปี เนื่องจากอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงจากดวงอาทิตย์
แม้ทฤษฎีใหม่นี้จะน่าสนใจ แต่ วิลเลียมส์ ยอมรับว่ายังไม่มีใครสามารถยืนยันต้นกำเนิดที่แท้จริงของดวงจันทร์ได้ การศึกษาเพิ่มเติมจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ข้อมูลอ้างอิง
What is the Moon’s true origin story