เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา ยานพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ (Parker Solar Probe) ของนาซา ประสบความสำเร็จในการบินเฉียดดวงอาทิตย์เป็นรอบที่ 21 โดยทำลายสถิติเดิมของตัวเองด้วยการเข้าใกล้พื้นผิวดวงอาทิตย์ในระยะเพียง 7.26 ล้านกิโลเมตร พร้อมกับพุ่งทะยานด้วยความเร็วสูงสุดถึง 635,300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
การเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในครั้งนี้เรียกว่า “perihelion” (จุดที่วงโคจรของดาวเคราะห์ ดาวหาง หรือวัตถุอื่นๆ ในระบบสุริยะ อยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์มากที่สุด) เกิดขึ้นเมื่อเวลา 5:15 น. ตามเวลาสากลเชิงพิกัด (UTC) หรือประมาณเที่ยงคืน 15 นาที ตามเวลาตะวันออกของสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นในวันที่ 3 ตุลาคม ยานพาร์กเกอร์ได้ส่งสัญญาณกลับมายังศูนย์ควบคุมบนโลกที่ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์จอห์นส ฮอปกินส์ (APL) ในรัฐแมริแลนด์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ออกแบบและสร้างยานลำนี้ โดยสัญญาณดังกล่าวบ่งชี้ว่ายานพาร์กเกอร์ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์และระบบต่างๆ ทำงานได้ตามปกติ
ภารกิจ perihelion ครั้งนี้ถือเป็นจุดกึ่งกลางของการโคจรรอบดวงอาทิตย์รอบที่ 21 ของยานพาร์กเกอร์ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายนและจะสิ้นสุดในวันที่ 5 ตุลาคม 2567 นี่เป็นครั้งสุดท้ายที่ยานพาร์กเกอร์ จะบินรอบดวงอาทิตย์ในระยะทางและความเร็วระดับนี้ ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงการบินที่ใกล้ขึ้นและเร็วขึ้นในอนาคต
สำหรับภารกิจสำคัญครั้งต่อไปของยานพาร์กเกอร์จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 ธันวาคม 2567 ซึ่งจะเป็นครั้งแรกของการเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในระยะประชิดที่สุด 3 ครั้งสุดท้าย โดยหลังจากได้รับแรงโน้มถ่วงช่วยจากดาวศุกร์ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ยานพาร์กเกอร์จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในระยะเพียง 6.1 ล้านกิโลเมตร จากพื้นผิว พร้อมกับเพิ่มความเร็วเป็น 692,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
การบินผ่านดาวศุกร์ในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ ถือเป็นครั้งที่ 7 และเป็นครั้งสุดท้ายตามแผน โดยจะเป็นการบินผ่านที่ใกล้ที่สุดในบรรดาการเผชิญหน้ากับดาวศุกร์ทั้งหมดของภารกิจ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการปรับวิถีโคจรของยานพาร์กเกอร์รอบดวงอาทิตย์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของภารกิจ นั่นคือการทำลายสถิติเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในระยะ 6.1 ล้านกิโลเมตร
ภารกิจนี้จะช่วยไขปริศนาสำคัญเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ เช่น #ลมสุริยะ ซึ่งส่งผลต่อโลกของเราโดยตรง
- ข้อมูลอ้างอิง : Space Daily