royal-air-force-thaicom

พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่าง บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) “ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการบินและอวกาศ” โดยมี นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทมหาชนจํากัด ไทยคม ร่วมลงนาม ณ ห้องรับรองขัตติยนารี กองบัญชาการกองทัพอากาศ เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2567

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการบินและอวกาศ” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีการบินและอวกาศ และพัฒนาเทคโนโลยีในด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อันจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการทำภารกิจต่าง ๆ และการรักษาน่านฟ้าและห้วงอวกาศไทย ให้แก่กองทัพอากาศ ตลอดจนส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวว่า “กองทัพอากาศ มีแผนพัฒนาโครงการต่าง ๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ Unbeatable Air Force โดยมุ่งเน้นให้กองทัพอากาศจัดหายุทโธปกรณ์จากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งเป็น New S-Curve ตัวที่ 12 ของประเทศ และเป็นอีกความหวังใหม่ในการยกระดับเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศ รวมทั้งยังเป็นการลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ ตลอดจนเป็นฐานการวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์เพื่อการสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนให้กับประเทศชาติในระยะยาว

ดังนั้น การร่วมมือกับไทยคมจึงเป็นโอกาสอันดีที่จะมาช่วยเสริมทัพความแข็งแกร่งให้แก่กองทัพอากาศมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพและขยายขีดความสามารถด้านการบินและอวกาศ ตามยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ 20 ปี ด้านการพัฒนาศักยภาพของประเทศให้พร้อมเผชิญกับภัยคุกคามต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ประเทศชาติเกิดการพึ่งพาตนเองได้อย่างวัฒนาถาวร”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทมหาชนจำกัด ไทยคม กล่าวว่า “ในฐานะที่ ไทยคม เป็นผู้ให้บริการธุรกิจดาวเทียมชั้นนำของประเทศไทย รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจและความเชื่อมั่นจากกองทัพอากาศ ในการร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีด้านการบินและอวกาศ โดยไทยคมจะนำความเชี่ยวชาญในด้านดาวเทียมสื่อสารและเทคโนโลยีอวกาศ มาบูรณาการร่วมกันกับกองทัพอากาศ เพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนาให้เกิดเป็นเทคโนโลยีการบินและอวกาศล้ำสมัย ตอบโจทย์การปฏิบัติภารกิจในด้านต่าง ๆ ของกองทัพอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนช่วยส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป”

ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมมือกันศึกษา วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีการบินและอวกาศเพื่อพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถทั้งทางด้านกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีการบินและอวกาศล้ำสมัย ภายใต้ข้อตกลง 3 มิติหลัก ได้แก่

  1. การวิจัยและพัฒนาระบบอากาศยานไร้คนขับที่จะปฏิบัติการควบคู่ไปกับเทคโนโลยีอวกาศเพื่อขยายศักยภาพด้านการบินให้ครอบคลุมอาณาบริเวณดูแลของกองทัพมากยิ่งขึ้น
  2. การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมขนาดเล็กล้ำสมัยที่จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านปฏิบัติการทางการทหารของ ทอ. ด้วยการใช้ประโยชน์จากห้วงอวกาศ
  3. การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านจรวดนำส่งดาวเทียมและปูทางไปสู่การพัฒนาท่าอวกาศยานทหารเพื่อความมั่นคงในอนาคต

ท่าอวกาศยานทหารเพื่อความมั่นคง (Military Spaceport for National Security) ของประเทศไทย  อาจจะสำเร็จขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้


อ้างอิงข้อมูล: กองทัพอากาศ