ซากอันน่าพิศวงของดาวฤกษ์ที่ดับสูญไปนาน โอบล้อมด้วยกลุ่มก๊าซรูปร่างคล้ายปลาวาฬ ภาพนี้เผยให้เห็นเนบิวลารูปทรงคล้ายกะโหลก ล่องลอยอยู่ในห้วงอวกาศอันไกลโพ้น บันทึกภาพด้วยรายละเอียดอันน่าทึ่งโดยกล้องโทรทรรศน์ Very Large Telescope (VLT) ของหอสังเกตการณ์ยุโรปตอนใต้ (ESO) เนบิวลากะโหลก หรือที่รู้จักกันในชื่อ NGC 246 ปรากฏเป็นสีแดงคล้ายเลือด นับเป็นเนบิวลาดาวเคราะห์แห่งแรกที่พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับระบบดาวคู่ ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงที่สาม
เนบิวลากะโหลกนี้ อยู่ห่างจากโลกประมาณ 1,600 ปีแสง ในกลุ่มดาวซีตัส (Cetus) หรือกลุ่มดาววาฬ มันก่อตัวขึ้นเมื่อดาวฤกษ์ที่มีลักษณะคล้ายดวงอาทิตย์ปลดปล่อยชั้นนอกสุดของมันออกไปในวัยชรา ทิ้งไว้เพียงแกนกลางที่เปลือยเปล่า หรือที่เรียกว่า ดาวแคระขาว ซึ่งเป็นหนึ่งในสองดาวที่สามารถมองเห็นได้ในใจกลางของ NGC 246
แม้ว่าเนบิวลานี้จะเป็นที่รู้จักมานานหลายศตวรรษแล้ว แต่ในปี พ.ศ. 2557 นักดาราศาสตร์เพิ่งค้นพบโดยใช้กล้องโทรทรรศน์ VLT ของ ESO มองเห็นดาวแคระขาวและดาวคู่หูของมัน กำลังซ่อนดาวฤกษ์ดวงที่สามไว้ในใจกลางของเนบิวลากะโหลก ดาวดวงนี้ ซึ่งมองไม่เห็นในภาพนี้ เป็นดาวแคระแดงสลัวๆ ที่อยู่ใกล้กับดาวแคระขาว ในระยะห่างประมาณ 500 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ดาวแคระแดงและดาวแคระขาวโคจรรอบกันและกันเป็นคู่ และดาวฤกษ์วงนอกโคจรรอบดาวแคระทั้งสองในระยะห่างประมาณ 1,900 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ดาวทั้งสามดวงนี้ทำให้ NGC 246 กลายเป็นเนบิวลาดาวเคราะห์แห่งแรกที่รู้จักกันว่ามีระบบดาวสามดวงเป็นศูนย์กลาง
ภาพนี้ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ESO Cosmic Gems ซึ่งเป็นโครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างภาพของวัตถุที่น่าสนใจ น่าตื่นตาตื่นใจ หรือดึงดูดสายตา โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ ESO เพื่อการศึกษาและการเผยแพร่สู่สาธารณะ
เครดิตภาพ: European Southern Observatory
– Stars and Skulls: new ESO image reveals eerie nebula