ภาพที่เห็นอยู่นี้ไม่ใช่ภาพจากภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ แต่เป็นภาพของเนบิวลา NGC 2359 หรือที่รู้จักกันในชื่อ “หมวกของธอร์” (Thor’s Helmet) ซึ่งเป็นกลุ่มเมฆคอสมิกที่มีรูปร่างคล้ายหมวกพร้อมปีกที่แผ่ออกมา
หมวกของธอร์มีขนาดใหญ่โตมาก โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 ปีแสง ที่จริงแล้ว หมวกคอสมิกนี้มีลักษณะคล้ายฟองอวกาศ (Interstellar bubble) ที่เกิดจากลมแรงที่พัดออกมาจากดาวฤกษ์สว่างขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางของฟอง
ดาวฤกษ์ที่อยู่ใจกลางหมวกของธอร์ คือดาววูล์ฟ-ราเยต์ (Wolf-Rayet star) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ยักษ์ที่มีอุณหภูมิสูงมาก และคาดว่าจะระเบิดเป็นซูเปอร์โนวา (Supernova) ที่น่าตื่นตาตื่นใจในอีกไม่กี่พันปีข้างหน้า
เนบิวลา NGC 2359 ตั้งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 15,000 ปีแสง ในกลุ่มดาวแคนิส เมเจอร์ (Canis Major) หรือกลุ่มดาวสุนัขใหญ่ ภาพที่คมชัดนี้เป็นการผสมผสานข้อมูลจากฟิลเตอร์แถบแคบ (Narrowband filters) ซึ่งไม่เพียงแต่จับภาพดาวฤกษ์ที่ดูเป็นธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเก็บรายละเอียดของโครงสร้างเส้นใยของเนบิวลาอีกด้วย
นักดาราศาสตร์ได้ศึกษาเนบิวลา NGC 2359 อย่างต่อเนื่อง เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการของดาวฤกษ์วูล์ฟ-ราเยท์ และกระบวนการเกิดเนบิวลา การศึกษาเนบิวลาแห่งนี้ช่วยให้เราเข้าใจถึงปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่ซับซ้อนและสวยงามในเอกภพ
เครดิตภาพ: SSRO/PROMPT/CTIO