Titan

ดวงจันทร์ไททัน (Titan) ของดาวเสาร์ มีความน่าสนใจตรงที่เป็นดวงจันทร์เพียงดวงเดียวใน #ระบบสุริยะ ที่มีชั้นบรรยากาศ โดยชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นประกอบด้วยไนโตรเจนเป็นส่วนใหญ่ เหมือนกับชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกของเรา บนพื้นผิวไททันก็มีน้ำแข็งและหินเช่นเดียวกับพื้นผิวโลก แต่ไม่อาจสังเกตเห็นได้เพราะถูกบดบังด้วยชั้นบรรยากาศที่หนาแน่น ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างแสงแดดกับก๊าซมีเทนและไนโตรเจน

พื้นผิวของไททันมีอุณหภูมิติดลบ 179 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้มีเทนและอีเทนกลายเป็นของเหลว สร้างทะเลสาบและแม่น้ำที่เป็นของเหลวมีเทนและอีเทน

การที่มีน้ำแข็งอยู่บนดวงจันทร์ไททัน จึงทำให้มีสภาพคล้ายกับโลกในยุคแรกก่อนมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้น จึงเป็นไปได้ว่าหากวันหนึ่งดวงอาทิตย์ร้อนขึ้นหรือกลายเป็น #ดาวยักษ์แดง น้ำแข็งบนดวงจันทร์ไททันก็จะละลายและอาจเกิดสิ่งมีชีวิตขึ้นเหมือนกับโลก แต่ต้องรออีกไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านปี

ซึ่งการศึกษาชั้นบรรยากาศของดวงจันทร์ไททัน ช่วยทำให้เรามีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับกระบวนการเคมี ที่อาจคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศของโลกในอดีต


ข้อมูลอ้างอิง : NASA/JPL
https://science.nasa.gov/saturn/moons/titan/