Tunguska

แม่น้ำตุงกุสคา (Tunguska) ตั้งอยู่ในไซบีเรียตอนกลางของประเทศรัสเซีย ดินแดนที่หนาวเหน็บอย่างรุนแรง และด้วยความแร้นแค้นของพื้นที่ ทำให้บริเวณแถบนี้ แทบไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลย

แต่ในช่วงเช้าของวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2451 ได้มีคนเห็นเหตุการณ์ลูกไฟลูกหนึ่ง พุ่งด้วยความเร็วสูงผ่านท้องฟ้าเหนือบริเวณแม่น้ำตุงกุสคา

หลังจากลูกไฟพุ่งผ่านไปเพียง 2-3 วินาที เสียงระเบิดดังสนั่นสั่นไหวเหมือนโลกจะถล่มทลาย นักวิทยาศาสตร์สมัยนั้นประมาณว่า พลังระเบิดมีความรุนแรงเท่ากับการระเบิดของลูกระเบิดปรมาณูขนาด 15 เมกะตัน

ความร้อนจากการระเบิดได้ทำให้เกิดไฟป่า ลุกไหม้เผาต้นไม้ที่ขึ้นในพื้นที่ 2,000 ตารางกิโลเมตร มีต้นไม้อีกหลายหมื่นต้น ล้มเอนราบเสมือนถูกลมพายุพัดกระหน่ำอย่างรุนแรง พลังระเบิดอันมหาศาลได้ทำให้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 5 ตามมาตราวัดริกเตอร์ และความร้อนในบริเวณนั้นทำให้ผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ห่างจากตำแหน่งระเบิดออกไป 70 กิโลเมตร ถึงกับต้องถอดเสื้อผ้าที่กำลังสวมอยู่เพราะผ้าจะลุกไหม้

ประวัติศาสตร์ยังได้บันทึกอีกว่า เป็นเวลานานหลายวันหลังการระเบิด ท้องฟ้าในเวลากลางคืนในประเทศแถบนั้น มีสีส้ม และสว่างมากถึงขนาดที่ทำให้ผู้คนสามารถอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใช้ตะเกียง

เรื่องที่นับว่าแปลกแต่จริงก็คือ ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดสนใจการระเบิดครั้งนั้น ต้องรอนานถึง 19 ปี จึงมีผู้เดินทางไปค้นหาความจริงที่ตุงกัสคา สาเหตุคงเป็นเพราะตุงกัสคาอยู่ไกล และเต็มไปด้วยอันตรายนั่นเอง

เหล่านักวิทยาศาสตร์รุ่นแรกๆ ที่เดินทางไปที่นั่น ได้พยายามค้นหาหลุมอุกกาบาต แต่ไม่มีใครเห็นหลุม หรือก้อนอุกกาบาตอะไรเลย สิ่งที่พวกเขาเห็นก็คือ ต้นที่ถูกไฟเผาไหม้มากมายเท่านั้นเอง ความลึกลับของการระเบิดในไซเบียเรียครั้งนั้น ได้เป็นเรื่องที่ผู้คนโจษจันกันมากมาย และนักวิทยาศาสตร์เองก็ได้ให้ความสนใจมาจนทุกวันนี้ว่า วัตถุฟากฟ้าที่พุ่งเข้าถล่มทลายตุงกัสคาในครั้งนั้น คือ ดาวหางหรืออุกกาบาต หรือดาวเคราะห์น้อย (asteroid) กันแน่

ในการอธิบายสาเหตุการระเบิดเหนือตุงกัสคาครั้งแรกๆ นั้น ชาวบ้านทั่วไปคิดว่าการระเบิดเกิดเพราะโลกกำลังจะแตก แต่ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่าเกิดเพราะโลกเราจะแตก แต่เพราะวัตถุฟากฟ้าก้อนหนึ่งที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวประมาณ 50-100 เมตร ได้ถูกชั้นบรรยากาศของโลกที่ระดับความสูง 10 กิโลเมตร เสียดสีจนลุกไหม้หายไป

แต่ปัญหาของความเชื่อนี้ก็คือ ผลจากการลุกไหม้จะต้องมีเศษหลงเหลืออยู่ แต่ก็ไม่มีใครพบเห็นหรือเก็บชิ้นส่วนอะไรได้เลย เศษหิน ดิน ที่เกิดจากการเผาไหม้ไปตกที่ไหนก็ไม่มีใครรู้

ปัญหาที่น่าสงสัยอีกเรื่องหนึ่งคือ ถ้าดาวที่ระเบิดนั้นเป็นดาวหางแล้ว ดาวหางซึ่งประกอบด้วยก้อนน้ำแข็งดินและหิน ควรจะระเหิดไปหมด แต่ถ้าอานุภาพรุนแรงของการระเบิดอย่างที่เห็น ดาวหางจะต้องมีนำหนักถึงหนึ่งล้านตัน และถ้าหากดาวที่ระเบิดเป็นอุกกาบาต เราก็ควรจะเห็นชิ้นส่วนที่เป็นเหล็ก หลงเหลืออยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุบ้าง แต่การสำรวจเท่าที่ทำมาจนถึงปัจจุบัน เราไม่พบเหล็กปริมาณมากในบริเวณนั้นแต่อย่างใด

ในวารสาร Nature ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2538 ได้รายงานว่า จากหลักฐานที่มีแร่ iridium มากผิดปกติในบริเวณนั้น และหลักฐานฝุ่นละอองขนาดเล็กปริมาณมากในยางของต้นไม้ที่ขึ้นในบริเวณนั้น ได้คำนวณพบว่า ดาวที่ตกเหนือตุงกัสคาเป็นดาวเคราะห์น้อย ที่มีองค์ประกอบหลักเป็นหิน และดาวดวงนี้ขณะตกมีความเร็วตั้งแต่ 1-2 กิโลเมตร/วินาที ความกดดันและความหนาแน่น ของชั้นบรรยากาศโลกทำให้มันเสียดสีกับอากาศจนดาวลุกไหม้ และแตกละเอียดเป็นเศษเล็กเศษน้อยที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 1-3 เซนติเมตร และมีอุณหภูมิที่สูงถึง 6,000 องศาเซลเซียส เศษเล็กเศษน้อยที่แตกละเอียดนี้เอง ได้แปรสภาพเป็นพายุฝุ่นพุ่งสู่ท้องฟ้า และเมื่อแสงอาทิตย์ตกกระทบฝุ่นละอองเล็กๆ แสงสะท้อนทำให้ท้องฟ้าสว่างไสว

คุณค่าของการค้นพบครั้งนี้อยู่ที่ว่า ทำให้เราล่วงรู้ว่าในยุคอดีตเคยมีดาวเคราะห์น้อยพุ่งเข้าชนโลกมาแล้ว และการชนนั้น ได้เกิดในบริเวณที่ไม่มีคนอยู่อาศัย จึงไม่มีใครได้รับอันตราย แต่หากการพุ่งชนนั้นเกิดในบริเวณที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ความสูญเสียอย่างมหาศาลก็คงจะติดตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย