ยานสำรวจดาวอังคารจูหรง (Mars rover Zhurong) ของจีน ค้นพบหลักฐานที่อาจเป็นแนวชายฝั่งทะเลโบราณทางซีกเหนือของดาวอังคาร
การค้นพบนี้สนับสนุนทฤษฎีที่มีมานานหลายทศวรรษว่า #ดาวอังคาร เคยมีมหาสมุทรปกคลุมอยู่ทางตอนเหนือเมื่อหลายพันล้านปีก่อน
จูหรง ลงจอดบนดาวอังคารในปี ค.ศ. 2021 ในแอ่ง Utopia Planitia ซึ่งเป็นหนึ่งในแอ่งที่เกิดจากการชนที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดบนดาวอังคาร ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จูหรงได้เดินทางสำรวจพื้นที่โดยรอบเป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร เพื่อศึกษาธรณีวิทยาและค้นหาร่องรอยของน้ำหรือน้ำแข็ง
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคฮ่องกง นำโดย โบ วู ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากกล้องถ่ายภาพและเรดาร์ทะลุพื้นของจูหรง รวมถึงข้อมูลจากดาวเทียมโคจร พวกเขาพบลักษณะทางธรณีวิทยาหลายอย่างที่บ่งชี้ถึงแนวชายฝั่ง เช่น หลุมรูปกรวย ร่องน้ำ ช่องทางตะกอน และภูเขาไฟโคลน
จากองค์ประกอบของตะกอนบนพื้นผิว คาดว่ามหาสมุทรนี้น่าจะมีอยู่ เมื่อประมาณ 3,680 ล้านปีก่อน โดยมีแร่ธาตุต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เช่น ซิลิกาไฮเดรต ก่อตัวขึ้นบนพื้นมหาสมุทร
เซอร์เกย์ คราซิลนิคอฟ ผู้ร่วมวิจัย กล่าวว่า น้ำในมหาสมุทรมีตะกอนมาก จึงก่อตัวเป็นชั้นๆ ของตะกอน
จากนั้น มหาสมุทรได้กลายเป็นน้ำแข็งเป็นเวลาประมาณ 10,000 ถึง 100,000 ปี ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในทางธรณีวิทยา ก่อนที่จะแห้งไปในที่สุด เมื่อประมาณ 260 ล้านปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ยังมีนักวิทยาศาสตร์บางส่วนที่ยังไม่ปักใจเชื่อว่าข้อมูลจากจูหรงจะชี้ชัดถึงแนวชายฝั่งโบราณ เบนจามิน คาร์ดีนาส จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตต ซึ่งศึกษาวิวัฒนาการของภูมิประเทศบนดาวอังคารกล่าวว่า การกัดเซาะที่เกิดขึ้นเป็นเวลาหลายพันล้านปีน่าจะทำลายร่องรอยของแนวชายฝั่งโบราณไปหมดแล้ว
แม้จะมีความเห็นต่าง แต่การค้นพบนี้ก็นับว่าน่าตื่นเต้น เพราะน้ำคือองค์ประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิต การที่ดาวอังคารเคยมีมหาสมุทร ยิ่งเพิ่มความเป็นไปได้ว่าดาวเคราะห์แดงแห่งนี้ อาจเคยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตจุลินทรีย์
แล้วน้ำบนดาวอังคารหายไปไหน? นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า น้ำบางส่วนอาจซึมลงไปใต้ดิน ข้อมูลจากยานอินไซต์ของ NASA พบว่ามีน้ำมากพอที่จะปกคลุมดาวอังคารด้วยมหาสมุทรลึก 1-2 กิโลเมตร โดยน้ำเหล่านี้ถูกกักเก็บไว้ในรอยแตกและรูพรุนเล็กๆ ใต้พื้นผิวดาว
คำตอบที่แน่ชัด อาจต้องรอการนำตัวอย่างดินจากดาวอังคารกลับมาวิเคราะห์บนโลก ซึ่งจีนมีแผนจะส่งยาน เทียนเหวิน 3 ไปเก็บตัวอย่างดินบนดาวอังคารในปี ค.ศ. 2028 และนำกลับมาถึงโลกภายในปี ค.ศ. 2031
ภารกิจนี้ของจีน อาจนำหน้าโครงการ Mars Sample Return (MSR) ของ NASA และ ESA ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงปรับแผน เนื่องจากปัญหาค่าใช้จ่ายและกำหนดเวลา
อนาคตของโครงการ MSR ยังคงไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ อีลอน มัสก์ ซึ่งสนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เสนอแผนการส่งยาน Starship ไปเก็บตัวอย่างบนดาวอังคาร ซึ่งอาจทำให้โครงการ MSR ของ NASA ถูกยกเลิกไป
การค้นพบครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการไขปริศนาประวัติศาสตร์ของดาวอังคาร และอาจนำไปสู่ความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับวิวัฒนาการของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเรา
ข้อมูลอ้างอิง : Space. com
– China’s Mars rover Zhurong finds possible shoreline of ancient Red Planet ocean